Skip to content

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน

“…เดิมเป็นป่าโปร่ง คนไปตัดไม้สำหรับเป็นฟืนและใช้พื้นที่สำหรับทำการเกษตร ป่าไม้ที่อยู่เหนือพื้นที่ถูกทำลายไปมากจึงไม่มีน้ำในหน้าแล้ง น้ำไหลแรงในหน้าฝน ทำให้มีการซะล้าง (erosion) ผิวดิน (top soil) บางลงและเกลืออยู่ข้างใต้ จะขึ้นเป็นหย่อมๆ…”

พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525

เมื่อวันที่ 2-20 พฤศจิกายน 2498 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคแรกอย่างทั่วถึง จึงเป็นที่ปลาบปลื้มปิติยินดีของมวลพสกนิกรทั้งหลายยิ่งนัก ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ทำให้พระองค์ทรงประสบปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร ภาคอิสานว่าแร้นแค้นยิ่งนัก อีกทั้งการคมนาคมหลายแห่งทุรกันดารยิ่งและถือได้ว่าการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นทำให้ทรงได้รับรู้ข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นที่สำคัญด้านการพัฒนา และเป็นรากฐานสู่การพัฒนาศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริจักรพันธ์ องคมนตรี และนายสุนทร เรืองเล็ก อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายเล็ก จินดาสงวน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรมราชองครักษ์ สวนจิตรลดา ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เป็นครั้งแรก โดยทรงให้พิจารณาวางโครงการ จัดหา น้ำสนับสนุนโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานตามพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทดลอง งานพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ อันได้แก่ การพัฒนาป่าไม้ การเกษตรต่าง ๆ ตามความเหมาะสม รวมทั้งการดำเนินงานด้านเกษตรอุตสาหกรรม สำหรับเป็นตัวอย่าง อันจะนำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ ต่อไป และได้ให้ราษฎรนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ตาดไฮใหญ่ ที่พิกัด 48 QUD 961-909 แผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 ระวาง 5843 III เพื่อจัดหาน้ำสนับสนุนศูนย์ฯ พื้นที่โครงการประมาณ 1,800 ไร่ ให้สามารถ ส่งน้ำใช้ทำการศึกษาและทดลองได้ตลอดทั้งปี

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2526 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จทอดพระเนตรตรวจสภาพพื้นที่บริเวณบ้านนานกเค้า และเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปถึงพื้นที่บริเวณที่จะก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตาดไฮใหญ่ และพระราชทานพระราชดำริ ให้พิจารณานำน้ำจากอ่างเก็บน้ำตาดไฮใหญ่มาสนับสนุนพื้นที่เกษตรกร บริเวณบ้านนานกเค้า และทรงคัดเลือกพื้นที่จัดตั้งศูนย์ ณ บริเวณบ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นพื้นที่ตัวแทนของภูมิภาคทั้งหมด ด้วยพื้นที่นี้มีลักษณะสภาพธรรมชาติแวดล้อม และวงจรชีวภาพที่คล้ายคลึงกับภูมิภาคโดยทั่วไป ของภาคอิสาน ดังนั้น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นแบบจำลองของภาค ตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นพื้นที่ส่วนย่อที่สอดค้องกับการแก้ปัญหา และศึกษาวิธีการพัฒนาของภูมิภาคนี้ได้อย่างเหมาะสม

ในปี พ.ศ. 2527 ได้ดำเนินการก่อตั้งที่ทำการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ หมู่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่เส้นรุ้งที่ 17.04 องศา ถึง 17.07 องศาเหนือ และเส้นแวงที่ 104.00 องศา ถึง 104.04 องศา ตะวันออกบ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 47000

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้เป็นสถานศึกษา ทดลอง ด้านการพัฒนาทุกรูปแบบ และถ่ายทอดเทคโนโลยีแผนใหม่ให้แก่เกษตรกร

2. เพื่อส่งเสริมให้มีการบำรุงรักษาและพัฒนาป่าไม่ในเขตปริฆณฑลของศูนย์ฯ ภูพาน ด้วยระบบชลประทาน

3. เพื่อการส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจและนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นสินค้าเกษตรกรรม

4. เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอาชีพทางการเกษตรต่าง ๆ เช่น กสิกรรม การประมง การปศุสัตว์ เป็นต้น

 

ผลสำเร็จศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ผลสำเร็จที่ 1 สายธารแห่งชีวิต

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯจึงเป็นเสมือนแบบจำลองของภาคอีสานเพื่อศึกษาวิธีการพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้ อันได้แก่ ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก,ป่าเปียก,การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างและปลูกป่าในใจคน

ผลสำเร็จที่ 2 การเลี้ยงโคเนื้อทาจิมะภูพาน

ปัจจุบันการเลี้ยงโคดังกล่าวรู้จักกันในชื่อ “ทาจิมะภูพาน” เป็นสายพันธุ์ที่ให้เนื้อคุณภาพดีที่สุดในโลก มีความนุ่ม ไขมันแทรกเกรดสูง ที่สำคัญคือมีสัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวกรดไขมันอิ่มตัวสูงกว่าโคทั่วไป มีผลทำให้เนื้อโคทาจิมะปลอดภัยต่อการบริโภค

การพัฒนาโคเนื้อทาจิมะมุ่งเน้นการใช้โคแม่พันธุ์ที่ราษฎรมีอยู่แล้วมาผสมกับน้ำเชื้อโคทาจิมะภูพาน แล้วทำการขุนลูกโคเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการประกอบอาชีพที่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกันก็ลดต้นทุนลงได้อีก

ผลสำเร็จที่ 3 การเลี้ยงไก่ดำภูพาน

ไก่ดำจัดเป็นอาหารบำรุงสุขภาพและได้รับความนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ไก่ดำภูพานเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯได้ศึกษาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ไก่ดำพันธุ์ดี ทนโรค เลี้ยงง่าย โตเร็ว ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงได้ จึงสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่งเป็นรายได้เสริม ขนาดของไก่น้ำหนัก 1 กิโลกรัมราคา 250 บาท ซึ่งไก่เนื้อทั่วไปราคาเพียง 80 บาทเท่านั้น

ผลสำเร็จที่ 4 การเลี้ยงสุกรภูพาน

สุกรหรือหมูภูพาน เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์จากสุกร 4 สายพันธุ์ที่มีจุดเด่นแตกต่างกัน คือพันธุ์เหมยซาน พันธุ์พื้นเมืองสกลนคร พันธุ์ดูร็อกเจอร์ซี่และพันธุ์แลนด์เรซ เพื่อให้ได้สุกรที่มีคุณสมบัติพิเศษเช่นเลี้ยงง่าย โตเร็ว ให้ลูกดก ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์การเลี้ยงของเกษตรกรได้อย่างดี ปัจจุบันสามารถผลิตสุกรภูพานได้ 2 สายพันธุ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรที่หลากหลาย

ผลสำเร็จที่ 5 การปลูกข้าวพันธุ์สกลนคร

ข้าวพันธุ์ดังกล่าวเป็นข้าวเหนียวที่ปลูกได้ทั้งนาดอน นาชลประทานและสภาพไร่ภาคอีสาน ปลูกได้ทั้งปี คุณภาพข้าวเหนียวที่หุงสุกแล้วเหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม เป็นอีกทางหนึ่งของเกษตรกรที่สามารถจะใช้เป็นเครื่องมือในการนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้

ผลสำเร็จที่ 6 การปลูกข้าวขาวพันธุ์ดอกมะลิ 105

ข้าวขาวพันธุ์ดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าที่ทนแล้งได้ดีพอสมควร ทนต่อสภาพดินเปรี้ยวและดินเค็ม เมล็ดข้าวสารใส แกร่ง คุณภาพการสีดี คุณภาพข้าวสุกอ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม

ผลสำเร็จที่ 7 ลิ้นจี่ นพ.1

ลิ้นจี้สายพันธุ์นี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในภาคอีสานเขตจังหวัดที่มีความหนาวเย็นสม่ำเสมอ ออกดอกติดผลสม่ำเสมอทุกปี ผลมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีลักษณะเด่นคือออกดอกเดือนธันวาคมและเก็บเกี่ยวในเดือนเมษายนของทุกปี ทำให้จำหน่ายได้ราคาดี

ผลสำเร็จที่ 8 การเลี้ยงสัตว์ปีกเพื่อควบคุมศัตรูพืชสวนผลไม้

เป็นไปในลักษณะของการพึ่งพาตนเอง นั่นคือการใช้ธรรมชาติช่วยดูแลธรรมชาติหรือใช้ธรรมชาติควบคุมกันเองเช่นการควบคุมศัตรูพืชในสวนผลไม้ โดยการเลี้ยงห่านเพื่อควบคุมวัชพืชซึ่งห่านเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อควบคุมแมลงในสวนไม้ผลในอัตรา 100 ตัวต่อไร่ นอกจากจะทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพปราศจากสารพิษโรคและแมลงแล้ว ยังได้อาหารจากการเลี้ยงห่านเลี้ยงไก่ที่จะให้ทั้งไข่และเนื้อตลอดทั้งปี แล้วยังได้ปุ๋ยคอกไปพร้อม ๆ กันด้วย

ผลสำเร็จที่ 9 การผลิตวุ้นเส้นจากถั่วเขียว

เมล็ดถั่วเขียวมีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบอยู่ถึงร้อยละ 56 มีโปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่และยังมีอะมายโลสและอะมายโลเพคตีน จึงสามารถผลิตเป็นแป้งที่มีคุณภาพ นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นที่เหนียวนุ่ม ไม่เปื่อยยุ่ย เป็นที่ต้องการและนิยมบริโภคกันทั่วไป ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกสลับพืชอื่น ๆ ทำให้สามารถมีรายได้เสริมได้