E-PLANDATA
ระบบฐานข้อมูลแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร
ลักษณะทั่วไป
♦ สภาพภูมิอากาศ
ลักษณะทั่วไป สกลนครมีลักษณะดินฟ้าอากาศโดยทั่วไปดังนี้ ฤดูร้อนอากาศร้อนอบอ้าว แห้งแล้ง, ฤดูฝนมีฝนตกชุก อยู่ในเกณฑ์อันดับสองของภาคอีสานรองจากจังหวัดนครพนม อุทกภัยมีเกิดขึ้นได้ บางแห่งในบริเวณที่ลุ่มหรือใกล้ทางน้ำไหลผ่าน, ฤดูหนาวมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด
ฤดูกาล
ฤดูฝน โดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนตุลาคม รวมเวลา 4 – 5 เดือน ฝนที่ตกส่วนมากเป็นฝนที่เกิดจากร่องมรสุมพาดผ่านและพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ ส่วนมากเป็นพายุระดับดีเปรสชั่นหรือโซนร้อน ส่วนที่เกิดจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีไม่มากนักเนื่องจากอยู่ห่างจากทะเลมาก ถ้าปีใดพายุดีเปรสชั่นเข้าน้อย ปีนั้นจะแห้งแล้ง โดยปกติจะมีพายุดีเปรสชั่น ถึงพายุโซนร้อนเข้าเฉลี่ยปีละ 1 – 2 ลูก สกลนครมีปริมาณน้ำฝนค่าเฉลี่ยปกติเท่ากับ 1,661.7 มิลลิเมตร (พ.ศ. 2534 – 2564 คาบ 30 ปี มาตรฐานองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก)
ปี พ.ศ. | ปี 2561 | ปี 2562 | ปี 2563 | ปี 2564 | ปี 2565 |
ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย (มิลลิเมตร) | 1,575.6 | 1,213.0 | 1,683.1 | 1,428.4 | 1,317.2 |
ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย (%) | 73.07 | 70.60 | 71.87 | 71.85 | 75.30 |
อุณหภูมิอากาศเฉลี่ย (°c) | 26.18 | 27.25 | 26.47 | 26.20 | 25.93 |
ตาราง : สถิติภูมิอากาศ ของจังหวัดสกลนคร ปี 2560 – 2564
สถิติฝนในคาบ 69 ปี (พ.ศ. 2498 – 2563) ของจังหวัดสกลนคร
ฝนมากที่สุดใน 1 ชม. 100.0 มม. เมื่อ 12 พฤษภาคม 2543
ฝนมากที่สุดใน 1 วัน 457.1 มม. เมื่อ 16 สิงหาคม 2517
ฝนมากที่สุดใน 1 เดือน 998.9 มม. เมื่อ เดือน สิงหาคม 2517
ฝนมากที่สุดใน 1 ปี 2,57.8 มม. เมื่อ เดือน 2560 (พายุ “เซินกา”)
ฝนน้อยที่สุดใน 1 ปี 991.3 มม. เมื่อ พ.ศ. 2498
สถิติฝนประจำปี พ.ศ. 2565 ของจังหวัดสกลนคร
ฝนมากที่สุดใน 1 วัน 74.0 มม. เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน 2565
ฝนมากที่สุดใน 1 เดือน 257.8 มม. เมื่อ เดือน กันยายน 2565 (พายุ “เซินกา”)
ฝนรวมทั้งปีประจำปี 2565 1,317.2 มม. (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย) (ค่าเฉลี่ย 1,661.7 มม.)
ที่มา : สถานีอุตุนิยมวิทยาสกลนคร (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2566
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ รวมเวลา 4 เดือน ในตอนต้นเดือนตุลาคมนั้น เป็นระยะเปลี่ยนฤดูระหว่างฤดูฝนกับฤดูหนาวอาจมีฝนตกได้เป็นบางวัน ฤดูหนาวของจังหวัดสกลนคร มีลักษณะอากาศหนาวอย่างชัดเจน กระแสลมที่เย็นและแห้งพัดมาจากประเทศจีน คือลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดสกลนครเคยมีอุณหภูมิต่ำสุด วัดได้ – 1.4 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2517 ที่สถานีอากาศเกษตรสกลนคร ตั้งอยู่ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สกลนคร บ้านนาคำ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
ฤดูร้อน ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม รวมระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ระยะนี้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือหมดกำลังลง ลมตะวันออกเฉียงใต้จากทะเลจีนใต้และ อ่าวไทยจะพัดมาแทนที่ และเป็นระยะหนึ่งที่ประเทศไทยได้รับแสงแดดกล้าที่สุด ทำให้มีความร้อนและแห้งแล้งมาก สถิติภูมิอากาศสูงที่สุดของสกลนคร คือ 41.9 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2500 อนึ่ง การเปลี่ยนฤดูจากฤดูหนึ่งไปยังอีกฤดูหนึ่งนั้น มีระยะช่วงเวลาอยู่ระหว่าง 1 – 2 สัปดาห์ จะนับว่าเป็นฤดูหนึ่งฤดูใดยังไม่ชัดเจน เนื่องจากเป็นระยะเปลี่ยนฤดู (transition period)