Skip to content

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร

อำเภอกุดบาก
กุดบาก เป็นอำเภอหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ในจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นอำเภอที่แฝงไปด้วยวัฒนธรรมและความเชื่อจากหลากหลายชนเผ่าที่มีอายุนับร้อยปี โดยอำเภอกุดบากมีคำขวัญประจำอำเภอว่า “ดินแดนแห่งที่ราบหุบเขา แหล่งปลูกข้าวปลูกหวาย หลากหลายวัฒนธรรมชุมชนผู้นำเสรีไทย ระบือไกลหมูกี้ ถิ่นผู้ดีเผ่ากะเลิง”

ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอกุดบากตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
     ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอนิคมน้ำอูนและอำเภอพรรณานิคม
     ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมืองสกลนคร
     ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอภูพาน และอำเภอคำม่วง (จังหวัดกาฬสินธุ์)
     ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอวังสามหมอ (จังหวัดอุดรธานี)

ประวัติอำเภอกุดบาก
     ไม่มีประวัติเขียนไว้เป็นหลักฐานแน่นอนแต่จากการบอกเล่าของคนท้องถิ่นทราบว่าเกิดขึ้นจากการที่ เผ่ากะเลิงหรือชาวกะเลิงเดิมเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณทิศตะวันตกของเทือกเขาในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ได้มีการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ของชาวกะเลิงเกิดขึ้นเมื่อคราวเกิดสงครามปราบจีนฮ่อ  เมื่อ พ.ศ. 2426นอกจากนี้กรมการเมืองสกลนครนำไพร่พลจำนวนหนึ่ง ไปปักหลักเขตแดนสยามเมื่อ พ.ศ. 2428ทำให้ชนชาวกะเลิงติดตามเข้ามาอาศัยในเมืองสกลนครโดยเลือกที่ตั้งบ้านเรือนเลือกทำเลหากินตามเทือกเขาภูพาน
     เดิมกุดบากเป็นตำบลหนึ่งในเขตปกครองของอำเภอเมืองสกลนครต่อมาวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2507 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศ ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอกุดบาก จนถึง วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 มีพระราชกฤษฎีกาประกาศยกฐานะเป็นอำเภอกุดบาก
     จากการบอกเล่าของคนท้องถิ่นทราบว่าเป็นภาษาท้องถิ่น “กุด” หมายถึงหนองน้ำส่วนคำว่า“บาก” หมายถึงต้นไม้กะบากซึ่งคนท้องถิ่นเรียกว่าไม้บากเมื่อรวมกันจึงหมายถึงหนองน้ำที่มีไม้กะบากขึ้นล้อมรอบต่อมาได้มีการตั้งชุมชนอยู่ริมหนองน้ำจึงเรียกชุมชนแห่งนี้ว่ากุดบาก”เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

ลักษณะเด่น
1. ชนเผ่า อำเภอกุดบาก เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านเผ่า “กะเลิง” ซึ่งเป็น 1 ใน 6 เผ่าของจังหวัดสกลนคร ประกอบไปด้วย

– ชนเผ่าไทญ้อ                                                – ชนเผ่าภูไท

– ชนเผ่าไทโย้ย                                                – ชนเผ่าไทกะโส้

– ชนเผ่าไทลาว                                                – ชนเผ่าไทกะเลิง

กลุ่มชาติพันธ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอกุดบากมี ดังนี้

     1) ชาติพันธ์กะเลิง                         ร้อยละ 95

     2) ชาติพันธ์ภูไท                           ร้อยละ 3

     3) ชาติพันธ์ญ้อ                             ร้อยละ 1

     4) ชาติพันธ์ไทลาว                        ร้อยละ 1

โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิง ซึ่งมีมานานนับร้อยปี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในแต่ละปีอำเภอกุดบาก ได้มีการจัดกิจกรรมประเพณีไทกะเลิงขึ้นทุกปี ในช่วงเดือนมกราคม วันที่ ๗ – ๙ ของทุกปี เพื่อสืบสานวัฒนธรรมและประเพณี

2. สิ้นค้า OTOP อำเภอกุดบากมี  ผ้าฝ้ายย้อมคราม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีชื่อเสียงและบ่งบอกวิถีชีวิตของชาวอำเภอกุดบากซึ่งดำเนินการเองตั้งแต่การปลูกต้นคราม การทำน้ำคราม การย้อมผ้าคราม การทอผ้าคราม ตลอดจนการจำหน่ายโดยมีการตั้งกลุ่ม คือ
     – กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าย้อมคราม บ้านเชิงดอย หมู่ที่ ๖ ตำบลนาม่อง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร
     – กลุ่มทอผ้าย้อมคราม บ้านหนองสะไน หมูที่ ๑๑ ตำบลนาม่อง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร
     
– วิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามและผ้าไหม บ้านกุดแฮด หมู่ที่ ๗ ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร

นอกจากนี้ยังมี ผลิตภัณฑ์จากเม่า (น้ำเม่า ไวน์เม่า) โดยการนำผลเม่ามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างอาชีพให้ชุมชนมีคุณภาพ มีรายได้ โดยมีการตั้งกลุ่ม คือ

     – กลุ่มแปรรูปหมากเม่า บ้านกุดแฮด หมู่ที่ ๙ ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร
     – กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนอินแปง บ้านบัว หมู่ที่ ๘ ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร

3. วิถีชีวิต ชาวอำเภอกุดบากมี สมุนไพรเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต ซึ่งได้มาจากป่าแม้จะปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ไว้บ้างก็ตาม  แต่พืชผักที่เป็นอาหารประจำวันก็มักจะไปหาจากป่า โดยเข้าป่า เข้าภู หลังรับประทานอาหารแล้วจะกลับในเวลาเย็น  ปัจจัยในเรื่องนี้แตกต่างจากชาวภูไท ซึ่งเปลี่ยนมาปลูกผักไว้เป็นอาหารในบ้าน เช่น หวาย ผักหวาน เป็นต้น และที่สำคัญพื้นที่ในหมู่บ้านบัว บ้านทรายแก้ว บ้านกุดแฮด บ้านกุดบาก ตำบลกุดบากมีชนเผ่าพื้นเมืองกะเลิงมากมีพื้นที่เชิงเขาน้อย พื้นที่ทำมาหากินไม่มากแต่ประชากรในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น  ชาวกะเลิงนิยมเลี้ยงหมูพันธุ์พื้นเมือง (หมูกี้) โดยปล่อยให้หมูหาอาหารกินเองเป็นลักษณะเด่นชัดกว่ากลุ่มย้อ กลุ่มภูไท นิยมเลี้ยงหมูพันธุ์ ซึ่งการเลี้ยงสลับซับซ้อนกว่า นอกจากนี้ยังไม่นิยมปลูกพืชผลไม้ต่างถิ่น แต่ยังนิยมพืชป่า เช่น มะไฟ มะม่วงป่า หมากแงว เป็นต้น

4. ความเชื่อ ชาวกะเลิงยังเชื่อในเรื่องภูตผีวิญญาณเชื่อว่าภูตผีวิญญาณทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือประสบโชคได้ชาวกะเลิงยังให้ความสำคัญกับบุคคลที่เป็นสื่อกลางของระบบความเชื่อ เช่น จ้ำ หรือเฒ่าจ้ำ ที่ช่วยดูแลศาลปู่ตา รวมทั้งการบนบานขอพรจากศาลปู่ตาให้ช่วยปัดเป่าความเดือดร้อนของชาวบ้าน หมอเหยาหรือแม่ครูไม่เพียงแต่ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากผีเป็นผู้กระทำเท่านั้นแต่ผู้ที่รักษาหายแล้วที่เรียกว่า “ลูกแก้ว” จะยังคงผูกพันกับแม่ครู เสมือนญาติให้การดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในวันเลี้ยงผีแม่ครูบรรดาลูกแก้วทุกคนจะมาร่วมในงานนี้ด้วย ฉะนั้น หมอเหยายังนับว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทในการรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับจ้ำหรือล่ามที่ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างคนกับภูตผีวิญญาณ มเหศักดิ์ ศาลปู่ตา ชาวกะเลิงยังให้ความเคารพนับถือ

 

เหวหำหด
จุดชมวิว “เหวหำหด”  แหล่งไดโนเสาร์ บ้านกุดแฮด อำเภอกุดบาก . เป็นอีกหนึ่งจุดชมวิว พระอาทิตย์ตกยามเย็น ธรรมชาติที่สวยงาม สามารถชมวิวรอบๆ 180 องศา สุดลูกหูลูกตา เหมาะสมสำหรับคนที่อยากหาที่เงียบๆสงบๆ นั่งรับลมเย็นๆชิวๆ พักผ่อน . รถเข้าไปถึง แล้วเดินเท้าต่ออีกประมาณ 300 เมตร ถึงหน้าผา

ถ้ำพระ
ถ้ำพระ ตั้งอยู่วัดเขาถ้ำพระ อ.กุดบาก จ.สกลนคร ลักษณะเป็นเพิงถ้ำ และมีรูปปั้นพระพุทธรูปโบราณ ท่ามกลางป่าภูพาน อันอุดมสมบูรณ์

วัดป่าคูณคำวิปัสสนา
วัดป่าคูณคำวิปัสสนา (วัดหลวงปู่ขาว) ตั้งอยู่ที่บ้านกลาง ตำบลกุดไห อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ภายในวัดป่าคูณคำวิปัสสนาพระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุ วัดป่าคูณคำวิปัสสนา อุโบสถของวัดป่าคูณคำวิปัสสนา ที่ยอดอุโบสถมีรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเหนือขึ้นไปมีรังต่อขนาดใหญ่ที่มาสร้างรังอยู่ที่นั้น ใหญ่มากๆ รอบๆอุโบสถมีหลวงพ่อทันใจประดิษฐานอยู่ทั้งสี่มุมของอุโบสถ

ถ้ำพวง
บ้านกุดแฮด ตำบลกุดบาก จังหวัดสกลนคร