Skip to content

การขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)

การขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) สร้างพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนของคนไทย
เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง

อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) จะสำเร็จได้ด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 5 เรื่องด้วยกัน เริ่มจาก
     องค์ประกอบที่ 1 “นายอำเภอในฝัน” ในฐานะผู้นำการบูรณาการของอำเภอนายอำเภอที่ต้องมี “ภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรืออาจเรียกว่า DNA นายอำเภอ ได้แก่ DNA ที่ 1 จิตใจ ต้องมีความรู้สึกใส่ใจประชาชน คนรอบข้าง และทีมงาน เป็นที่รัก ศรัทธา และภาคภูมิใจของประชาชน และมี Passion มุ่งมั่นพัฒนางานที่รับผิดชอบโดยไม่ต้องรีรอคำสั่ง  DNA ที่ 2 ทัศนคติ ต้องคิดบวก ทำให้ทุกคนในอำเภอมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความสามัคคี เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำงานเป็นครอบครัวเดียวกัน ลงไปคลุกคลีตีโมงกับพี่น้องประชาชน มีมุมมองที่ลึกและกว้างไกล มองเห็นโอกาสและแนวทางการมุ่งสู่การพัฒนาเสมอ DNA ที่ 3 จิตวิญญาณความเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความเป็นราชสีห์ผู้จงรักภักดี เป็นคนมหาดไทยที่เป็นที่พึ่งพิง พึ่งพา บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน และ DNA ที่ 4 ความมีวินัย ที่ต้องสูงกว่าคนทั่วไป มีจิตใจที่รุกรบ มุ่งมั่นไม่ยอมแพ้อุปสรรค และไขว้คว้าหาทางเพื่อทำให้ประชาชนทุกคนมีความสุข

     องค์ประกอบที่ 2 “สร้างทีม สร้างพลัง” ด้วยการสร้างและขับเคลื่อนทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยนายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ เป็นผู้นำในการบริหารจัดการงานทุกกระทรวงในพื้นที่ให้เกิดผลสำเร็จและประโยชน์ต่อประชาชนที่ย่อมมีวาระการดำรงตำแหน่งที่ต่างกัน สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานต่าง ๆ หรือแนวคิดดี ๆ ต่าง ๆ ยังคงได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่อง นายอำเภอต้องสร้างทีมในทุกระดับ ทั้งระดับอำเภอ ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน ทำงานลักษณะคู่ขนาน (Dual Track) ได้แก่ ทีมที่เป็นทางการหรือทีมตามกฎหมาย เช่น กรมการอำเภอ ข้าราชการในอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีมที่ไม่เป็นทางการหรือจิตอาสา ที่เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีความเสียสละ จาก 7 ภาคี เครือข่าย

     องค์ประกอบที่ 3 “ระบบบริหารจัดการชุมชนดี มีพลัง” ด้วยการนำระบบคุ้มบ้านเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้การบริหารจัดการชุมชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะ 1 คุ้ม จะดูแลสมาชิกประมาณ 25 ครัวเรือน ทำให้ดูแลได้อย่างใกล้ชิด มีผู้นำคุ้มช่วยงานหมู่บ้านเพิ่มขึ้น และสามารถพัฒนาให้เป็นผู้นำหมู่บ้านในอนาคต

     องค์ประกอบที่ 4 “บูรณาการงาน บูรณาการคน : ประสมงาน ประสานใจ เป้าหมายคือชุมชน” ด้วยการกระตุ้นให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานพัฒนา “ร่วมพบปะพูดคุย ร่วมขับเคลื่อนดำเนินการ ร่วมคิดร่วมวางแผน และร่วมรับประโยชน์” สร้างสำนึกความเป็นชุมชน ให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดรูปแบบชุมชนเอง เพราะชุมชนเป็นผู้รับผลของการพัฒนา

และองค์ประกอบที่ 5 “ชุมชนเรียนรู้ สู่หมู่บ้านยั่งยืน” ซึ่งชุมชนจะเข้มแข็ง จะอยู่รอดได้ด้วย 3 ทุนหลัก คือ ทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา และทุนทางสังคม (ความเอื้ออาทร) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) จะสำเร็จได้ด้วยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน จึงถือเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบูรณาการให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ รวมทั้งเป็นหน้าที่สำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ในการสนับสนุนการขับเคลื่อน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัด ต้องเป็นผู้นำการบริหารจัดการงานของทุกกระทรวงในพื้นที่แบบบูรณาการให้บรรลุผลสำเร็จ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ ด้วยการสร้างเครือข่าย เชื่อมประสานและสร้างพลังเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน) จนสามารถพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่พร้อมทั้งกำหนดให้การขับเคลื่อนเป็นวาระของจังหวัด

รายละเอียดเพิ่มเติม
ข้อเน้นย้ำของ ปมท. ver 11 พ.ค. 66
คู่มือการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)
นส ถึง กรม รวส การขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)
นส ถึง ผวจ. การขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)
หนังสือที่อ้างถึง