Skip to content

สำรวจแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ “แก่งกะลังกะลาด” อำเภอกุดบาก

ดร.ชูพงศ์ คำจวง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร นำคณะผู้นำชุมชนบ้านกุดแฮด หมู่ที่ 4 ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก สำรวจแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ “แก่งกะลังกะลาด”
“กะลังกะลาด” เป็นภาษาถิ่นของชนเผ่ากะเลิงที่เรียกชื่อสถานที่ดังกล่าวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หมายถึง บริเวณที่น้ำไหลผ่าน โดยในบริเวณนี้ พบรอยของไดโนเสาร์กินเนื้อ กลุ่มเทอโรพอด (Theropod) เป็นไดโนเสาร์ที่มีความหลากหลายของรูปร่าง ตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าไก่ และใหญ่กว่าช้าง หรือราว 17 เมตร สามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เทอโรพอดขนาดใหญ่ (Carnosaur) และเทอโรพอดขนาดเล็ก (Coelurosaurs)เป็นพวกวิวัฒนาการจนตัวเล็กลง แต่ยังมีเขี้ยวเล็บแหลมคมตามแบบฉบับของเทอโรพอด และมีความว่องไวปราดเปรียว โดยส่วนใหญ่เทอโรพอดจะกินเนื้อเป็นอาหาร ดูได้จากลักษณะฟันของพวกมันที่มีฟันคม ขอบฟันเป็นหยักสำหรับตัด และฉีกชิ้นเนื้อ อีกทั้งยังเป็นไดโนเสาร์ที่เดินด้วย 2 ขาหลัง มีนิ้วตีนจำนวน 4 นิ้ว คล้ายไก่ในปัจจุบัน โดยนิ้วที่หนึ่งจะมีการลดขนาดจนเล็กคล้ายเดือยไก่ ทำให้รอยตีนที่พบส่วนใหญ่เป็นรอยที่มีเพียง 3 นิ้ว
ดร.สุรเวช สุธีธร อาจารย์ประจำภาควิชาและนักบรรพชีวิน นางสาวเบญจพร ฤทธิ์จันอัด ได้ทำการศึกษาวิจัย “รอยตีนของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่พบในหมวดหินพระวิหาร ยุคครีเทเชียสตอนต้น (145.5+-4.0 ล้านปี) ที่พบบริเวณแก่งกะลังกะลาด ในท้องที่บ้านกุดแฮด หมู่ที่ 4 ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ผลการสำรวจ พบทางเดินของสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ จำนวน 14 ลาน รอยตีนกว่า 2,144 รอย รอยที่พบไม่เหมือนรอยตีนสัตว์หรือรอยตีนไดโนเสาร์ที่เคยพบมาก่อนในช่วงอายุเดียวกัน มีรอยที่เหมือนเดินด้วย 1 นิ้ว 2 นิ้ว และ 3 นิ้ว บางรอยคล้ายกับรอยลากขาที่เกิดจากการว่ายน้ำ และรอยตีนในสภาพดินตะกอน และดินโคลนที่มีน้ำท่วมขัง อนุมานได้ว่า สภาพดินบริเวณแก่งกะลังกะลาดในยุคครีเทเชียส มีสภาพคล้ายหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำในยุคบรรพกาล ปัจจุบันอำเภอกุดบากได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯลฯ เทศบาลตำบลกุดแฮด และชาวอำเภอกุดบาก พัฒนาแก่งกะลังกะลาด ให้เป็น “แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา รอยสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์และแม่น้ำโบราณ 140 ล้านปี” เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติจุดชมวิวผาถ้ำพวง และเหวหำหด ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกัน