E-PLANDATA
ระบบฐานข้อมูลแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร
โครงสร้างและระบบบริการขั้นพื้นฐาน
♦ การคมนาคมขนส่ง
การคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดสกลนครส่วนใหญ่ อาศัยการขนส่งทางถนนเป็นหลัก เชื่อมโยงระหว่างอำเภอ จังหวัด และจังหวัดสู่จังหวัดใกล้เคียง โดยมีทางหลวงแผ่นดินทั้งหมดประมาณ843.830 กิโลเมตร รับผิดชอบโดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม มีหน่วยงานแขวงทางหลวงสกลนครที่ ๑ และแขวงทางหลวงสกลนครที่ ๒ (สว่างแดนดิน) รับผิดชอบดูแล รักษาสภาพทางหลวงให้มีสภาพที่พร้อมใช้งานที่สะดวก และปลอดภัย ตลอดจนปรับปรุง ขยายช่องจราจรให้เพียงพอกับปริมาณจราจร ที่เพิ่มขึ้นตาม การเติบโตของเศรษฐกิจจังหวัดสกลนครและของประเทศ
รูปภาพ : แสดงเส้นทางการคมนาคมในจังหวัดสกลนคร
จังหวัดสกลนคร มีถนนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน ดังนี้
1) ทางหลวงแผ่นดิน เป็นทางหลวงที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง
เป็นโครงข่าย สายหลักเชื่อมระหว่างจังหวัดกับจังหวัด จังหวัดกับอำเภอ อำเภอสู่อำเภอ และไปสู่สถานที่สำคัญ โดยเส้นทางที่อยู่ในความรับผิดชอบของแขวงทางหลวงสกลนครที่ 1 และแขวงทางหลวงสกลนครที่ 2 (สว่างแดนดิน) ระยะทางรวมประมาณ 843.830 กิโลเมตร
2) ทางหลวงชนบท เป็นทางหลวงที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท
เป็นเส้นทางเชื่อมต่อโครงข่ายสายหลักของกรมทางหลวง และยังเป็นเส้นทางเข้าสู่แหล่งผลิตสินค้า แหล่งท่องเที่ยว แหล่งชุมชน และสถานที่อื่นๆ มีระยะทางรวมประมาณ 1,178.535 กิโลเมตร
3) ทางที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ๆ เป็นเส้นทางที่อยู่ในชุมชนเชื่อมเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงชนบท โดยอยู่ในความควบคุม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่นองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีระยะทางรวมประมาณ 4,136.9 กิโลเมตร
รูปภาพ : แสดงเส้นทางโครงข่ายการคมนาคมในจังหวัดสกลนคร
จำนวนโครงข่ายสายทาง 64 สายทาง ระยะทาง 1,164.939 กิโลเมตร แบ่งเป็น
– ถนนลาดยาง 1,128.529 กิโลเมตร
– ถนนลูกรัง – กิโลเมตร
– ถนนคอนกรีต 36.410 กิโลเมตร
ข้อมูลเส้นทางคมนาคมขนส่งสายหลักที่เป็นโครงข่ายสำคัญที่เชื่อมจังหวัดสกลนครกับจังหวัดอื่น ๆ
– ผิวลาดยางระยะทาง 843.830 กิโลเมตร
– ผิวคอนกรีต ระยะทาง 1.395 กิโลเมตร
– ผิวลูกรังระยะทาง – กิโลเมตร
การขนส่ง
1. การเดินรถที่เชื่อมต่ออำเภอเมืองสกลนคร ได้แก่ รถหมวด 2 และหมวด 3 จำนวน 21 เส้นทางเข้าใช้สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสกลนคร แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นรถบัส รถหมวด 3 และหมวด 4 จำนวน 11 เส้นทางเข้าใช้สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดสกลนครแห่งที่ 1 ซึ่งเป็นรถโดยสารสองแถว และรถหมวด 1 จำนวน 2 เส้นทาง เดินรถอยู่ในเขตตัวเมืองสกลนคร
2. การเดินรถที่เชื่อมต่ออำเภออื่น ๆ ของจังหวัดสกลนคร ไม่ผ่านตัวเมืองสกลนคร ได้แก่ รถหมวด 2 จำนวน 2 เส้นทาง รถหมวด 3 จำนวน 1 เส้นทาง รถหมวด 4 จำนวน 5 เส้นทาง และรถขนาดเล็กจำนวน 12 เส้นทาง
การคมนาคมทางอากาศ
ท่าอากาศยานสกลนคร ตั้งอยู่ที่ ถนนสกลนคร – นครพนม ตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมือง สกลนคร จังหวัดสกลนคร ให้บริการประชาชนในพื้นจังหวัดสกลนครและใกล้เคียง โดยมีเที่ยวบินให้บริการ จำนวน 1 เส้นทางบิน ได้แก่ เส้นทางบิน สกลนคร – กรุงเทพฯ จำนวน 4 เที่ยวบิน/วัน เป็นเที่ยวบินของสาย การบินไทยแอร์เอเชีย จำนวน 1 เที่ยวบิน/วัน และสายการบินนกแอร์ จำนวน 3 เที่ยวบิน/วัน อัตราการเจริญเติบโต จากการพิจารณาข้อมูลสถิติด้านการคมนาคมทางอากาศของจังหวัดสกลนคร ได้แก่ จำนวนเที่ยวบิน ผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าทางอากาศ ปี 2562 – 2564
พบว่า
– ปี 2562 มีเที่ยวบินรวม (ขึ้น – ลง) จำนวน 2,853 เที่ยวบิน ผู้โดยสารรวม (ขึ้น – ลง) จำนวน 386,794 คน และมีการขนส่งสินค้าทางอากาศ (ขึ้น – ลง) จำนวน 39,523 กิโลกรัม
– ปี 2563 มีเที่ยวบินรวม (ขึ้น – ลง) จำนวน 2,530 เที่ยวบิน ผู้โดยสารรวม (ขึ้น – ลง) จำนวน 257,848 คน และมีการขนส่งสินค้าทางอากาศ (ขึ้น – ลง) จำนวน 21,385 กิโลกรัม
– ปี 2564 มีเที่ยวบินรวม (ขึ้น – ลง) จำนวน 1,184 เที่ยวบิน ผู้โดยสารรวม (ขึ้น – ลง) จำนวน 117,236 คน และมีการขนส่งสินค้าทางอากาศ (ขึ้น – ลง) จำนวน 12,103 กิโลกรัม
ตาราง : แสดงจำนวนเที่ยวบิน ผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าทางอากาศจังหวัดสกลนคร
รายการ | ปี 2561 | ปี 2562 | ปี 2563 |
จำนวนเที่ยวบิน (เที่ยวบิน) | 2,853 | 2,530 | 1,184 |
ผู้โดยสาร (คน) | 386,794 | 257,848 | 117,236 |
การขนส่งสินค้าทางอากาศ (กิโลกรัม) | 39,523 | 21,385 | 12,103 |
ที่มา : แผนพัฒนาจังหวัดสกลนคร 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
ทางรถไฟ
การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปลงที่จังหวัดอุดรธานีทุกวัน แล้วเดินทางต่อไปโดยรถยนต์ประจำทางไปจังหวัดสกลนคร อีกประมาณ ๑๕๙ กิโลเมตร