E-PLANDATA
ระบบฐานข้อมูลแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร
ลักษณะทั่วไป
♦ สภาพภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป ทางด้านทิศใต้เป็นเทือกเขาสูงจากนั้นจะค่อย ๆ เอียงลาด ลงมาทางทิศเหนือและทิศตะวันออก พื้นที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 172 เมตร ขนาดพื้นที่ของจังหวัดสกลนครเป็นลำดับ 19 ของประเทศ และลำดับ 8 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะภูมิประเทศแต่ละบริเวณ ดังนี้
รูปภาพ : แสดงลักษณะภูมิประเทศ จังหวัดสกลนคร
– พื้นที่ตอนใต้ สภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูงบนเทือกเขาภูพานและที่ราบระหว่างหุบเขา
มีสภาพพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาดอยู่บริเวณอำเภอกุดบาก มีลำธารและลำห้วยอันเกิดจากเทือกเขาหลายแห่งมีป่าไม้และทุ่งหญ้า เหมาะสำหรับการเลี้ยงสัตว์
– พื้นที่ตอนตะวันออก มีสภาพพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาดรวมถึงบริเวณที่ติดกับอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
– พื้นที่ตอนตะวันตก สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับกับพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาด เหมาะสำหรับการทำไร่บริเวณที่ติดกับจังหวัดอุดรธานี
– พื้นที่ตอนกลาง สภาพพื้นที่เป็นที่ราบต่ำเหมาะแก่การทำนา โดยเฉพาะท้องที่อำเภอเมืองสกลนครที่มีหนองหารทำให้มีน้ำตลอดปี ซึ่งมีอาณาเขตกว้างประมาณ ๗ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ระดับน้ำลึกประมาณ 2 – 4.5 เมตร หนองหารเป็นที่รองรับน้ำจากแม่น้ำต่างๆ หลายสาย
– พื้นที่ตอนเหนือ สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาด มีสภาพเป็นป่าปนไร่ ป่าส่วนใหญ่เป็นพวกป่าแดงโปร่ง มีไม้เต็ง ไม้รัง พลวง เหนือที่ตั้งอำเภออากาศอำนวยและริมน้ำสงครามบางส่วนเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วม ซึ่งใช้ทำนาได้บางส่วนเท่านั้น ส่วนใหญ่จะทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่า มีพวกไม้พุ่มเตี้ย และหญ้าขึ้นปกคลุมทั่วไป
ที่มา : แผนพัฒนาจังหวัดสกลนคร 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) ฉบับทบทวนปีงบประมาณ พ.ศ. 256
ลักษณะภูมิประเทศและธรณีสัณฐานของจังหวัดสกลนคร เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตอนบนของที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเรียกว่าแอ่งสกลนคร
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นที่ราบเรียบจนถึงภูเขาสูง บริเวณตอนกลาง และตอนบนเป็นพื้นที่ราบและลูกคลื่นลอนลาดที่รองรับด้วยหมวดหินมหาสารคามทางตอนล่างประกอบด้วยพื้นที่ลูกคลื่นลอนลาดที่รองรับด้วยหมวดหินโคกกรวด และลูกคลื่น ลอนชันจนถึงภูเขาสูงของเทือกเขาภูพานที่รองรับด้วยหมวดหินที่มีอายุมากกว่าโคกกรวด สภาพภูมิประเทศมีลักษณะลาดเอียงจากทางใต้ลงทางเหนือ ซึ่งอาจแบ่งลักษณะสภาพภูมิประเทศและธรณีสัณฐาน ได้ ดังนี้
1) พื้นที่ภูเขา (mountainous area) มีพื้นที่สวนใหญ่ เป็นพื้นที่ลาดชันเชิงซ้อน (slope complex) ระดับความสูงของภูเขามีตั้งแต่ 200 – 567 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทางด้านตอนล่างของพื้นที่ในเขตอำเภอภูพาน, เต่างอย, นิคมน้ำอูน, กุดบาก, วาริชภูมิ และส่องดาว เป็นพื้นที่ภูเขาของหมวดหินที่มีอายุแก่กว่าหมวดหินโคกกรวด ได้แก่ หมวดหินภูพาน หมวดหินเสาขรัว หมวดหินพระวิหาร หมวดหินภูกระดึง หมวดหินน้ำพอง และหมวดหินห้วยหินลาด เป็นต้น ลักษณะของภูเขาเป็นแนวเทือกเขาภูพาน ที่ต่อเนื่องมาจากจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดมุกดาหาร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ ประกอบด้วยที่ราบสูง ที่ราบระหว่างหุบเขา พื้นที่ลูกคลื่นลอนชัน พื้นที่ลาดชันเชิงซ้อน และภูเขาผาชัน (escarpment) ลักษณะของเทือกเขาวางตัวในแนวทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นแนวแบ่งขอบเขตระหว่างจังหวัดสกลนครกับจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดมุกดาหาร
2) พื้นที่ที่มีการปรับระดับหรือพื้นที่ซึ่งเกิดจากการกร่อน (denudation or erosion plain) และรองรับด้วยหมวดหินโคกกรวด ตะกอนพื้นผิวส่วนใหญ่เกิดจากการผุพังอยู่กับที่ (in situ material) ของหินทรายหรือเคลื่อนย้ายไปทับถมในบริเวณต่ำกว่า โดยกระบวนการธรณีสัณฐานต่างๆ สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาด (undulating) ถึงลอนชัน (rolling) บริเวณดังกล่าวจะวางตัวเป็นแนวยาวขนานไปกับส่วนต่ำของเทือกเขาภูพาน พบในเขตอำเภอเมืองสกลนคร, ภูพาน, โคกศรีสุพรรณ, เต่างอย, วาริชภูมิ, กุดบาก, นิคมน้ำอูน, พรรณานิคม, และส่องดาว
3) พื้นที่ที่มีการปรับระดับหรือพื้นที่ซึ่งเกิดจากการกร่อน (denudation or erosion plain) และรองรับด้วยหมวดหินมหาสารคาม ตะกอนพื้นผิวส่วนใหญ่ เกิดจากการผุพังอยู่กับที่ (in situ material) ของหินทรายและหินทรายแปง หรือเคลื่อนย้ายไปทับถมในบริเวณต่ำกว่า โดยกระบวนการธรณีสัณฐานต่างๆสภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นพื้นที่เกือบราบ (gently slope) ถึงลูกคลื่นลอนลาด (undulating) บริเวณดังกล่าวจะวางตัวอยู่ถัดจากพื้นที่ที่มีการปรับระดับของหมวดหินโคกกรวดไปทางตอนเหนือของพื้นที่ พบในเขตอำเภอเมืองสกลนคร, โคกศรีสุพรรณ, พรรณานิคม, วาริชภูมิ, โพนนาแก้ว, กุสุมาลย์, พังโคน, อากาศอำนวย,วานรนิวาส, เจริญศิลป์, คำตากล้า, บ้านม่วง, และสว่างแดนดิน
4) พื้นที่ตะกอนลำน้ำ (fluvial plain) ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะและทับถมของลำน้ำในปัจจุบัน ได้แก่ ตะกอนลำน้ำที่เกิดจากลำน้ำสงคราม ลำน้ำยาม ลำน้ำอูน ลำห้วยปลาหาง ลำน้ำพุง ลำน้ำก่ำ และลําห้วยสาขาของลำน้ำดังกล่าว สภาพพื้นที่สวนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ (nearly level to level) และวางตัวเป็นแนวแคบๆขนานไปตามลำน้ำ พบมากในเขตอำเภอเมืองสกลนคร, โคกศรีสุพรรณ, พรรณานิคม, วาริชภูมิ, โพนนาแก้ว กุสุมาลย์, พังโคน, อากาศอํานวย, วานรนิวาส, เจริญศิลป์, คําตากล้า, บ้านม่วง, และสว่างแดนดิน
ที่มา : สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสกลนคร