Skip to content

E-PLANDATA

ระบบฐานข้อมูลแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร

เศรษฐกิจจังหวัด
♦ งานประเพณีสำคัญ และแหล่งท่องเที่ยว

               งานประเพณีประจำปี
                    จังหวัดสกลนครมีงานประเพณีที่สำคัญ ประกอบด้วย
                    (1) งานนมัสการองค์พระธาตุเชิงชุมและหลวงพ่อพระองค์แสน จัดขึ้นในวันขึ้น 9  ค่ำถึง 15 ค่ำ เดือนยี่ของทุกปี ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ภายในวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหารนั้นมีพระวิหาร ซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อพระองค์แสน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ขัดสมาธิราบ ก่ออิฐ ถือปูน ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูงจากฐานถึงพระเมาลี 3.20 เมตร ประทับนั่งบนแท่นสูง 1.35 เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกหันพระปฤษฎางค์เข้าหาองค์พระธาตุเชิงชุม หลวงพ่อองค์แสนเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ของชาวสกลนครคู่มากับพระธาตุเชิงชุม ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในพระวิหารเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มากอีกองค์หนึ่งของประเทศ
                    (2) งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ จัดขึ้นในช่วงออกพรรษา ระหว่างวันขึ้น 12 – 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี มีการจัดการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บริเวณหนองหาร และในตอนกลางคืนของวันขึ้น 13 ค่ำ ก่อนวันทำการแห่ขบวนปราสาทผึ้งชาวคุ้มต่าง ๆ จะนำปราสาทผึ้งของตนที่ตกแต่งสวยงามประดับโคมไฟหลากสีมาตั้งประกวดแข่งขันกัน ณ สนามมิ่งเมือง เพื่อให้ประชาชนได้ชมความสวยงามอย่างใกล้ชิด สำหรับวันขึ้น 14 ค่ำ จะเป็นวันแห่ขบวนปราสาทผึ้งที่ตกแต่งอย่างวิจิตร สวยงามของคุ้มวัดต่าง ๆ ไปตามถนนในเขตเทศบาลไปสู่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ปราสาทผึ้งแต่ละขบวนจะนำมาตั้งไว้ เป็นพุทธบูชา ณ บริเวณวัดพระธาตุเชิงชุม ด้วยความศรัทธาของชาวอีสานที่เชื่อว่าในเทศกาลออกพรรษาพระพุทธเจ้าจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อมาโปรดเวไนยสัตว์ในโลกมนุษย์ให้พ้นทุกข์
                    (3) งานรวมน้ำใจไทสกลและงานกาชาด จัดขึ้นประมาณต้นปีของทุกปี บริเวณศาลากลางจังหวัดสกลนคร กิจกรรมประกอบด้วย การออกร้านหรรษากาชาด การประกวดธิดาผ้าย้อมคราม การประกวด ร้องเพลง การออกร้านแสดงนิทรรศการของส่วนราชการ การประกวดศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการแสดง มหรสพ เป็นต้น
                    (4) งานประเพณีเซิ้งผีโขน จัดขึ้นที่ตำบลไฮหย่อง อำเภอพังโคน การเซิ้งผีโขนเป็นการเซิ้งในงานประเพณีบุญมหาชาติ หรือบุญพระเวสสันดร ซึ่งเป็นวันจัดขบวนแห่ผีโขนที่ยิ่งใหญ่ เพื่อระลึกถึงคุณงาม ความดี การบำเพ็ญกุศลของพระเวสสันดรชาดกในอดีตกาล เพื่อเป็นข้อเตือนใจว่าการเป็นคนดีมีคุณธรรมมีน้ำใจเกื้อกูลต่อผู้อื่น เสียสละ บริจาค ให้อภัยซึ่งกันและกัน แม้กรณีทั้งภูตผีปีศาจก็ยังแซ่ซ้องสรรเสริญ เข้าร่วมขบวนแห่อัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมืองด้วย ทั้งยังให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสเข้าร่วมทำบุญบริจาค ทานก่อนถึงวันงานประเพณีบุญมหาชาติ  โดยใช้ผีโขนแห่ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ
                    (5) งานเทศกาลโส้รำลึก เป็นงานสำคัญของชาวโส้อำเภอกุสุมาลย์ จัดขึ้นในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอกุสุมาลย์ การแสดงโส้ทั่งบั้งจะเริ่มในตอนสายของวันขึ้น 4 ค่ำ  ตามประเพณีความเชื่อที่สืบทอดมาแต่อดีต เป็นการแสดงพิธีเหยา (เชิญวิญญาณเข้าทรงคนป่วยลงสนามหรือ แซงสนาม) และพิธีเจียสะลารวมเข้ากันเพื่อให้เกิดรูปขบวนที่สวยงามเป็นจังหวะสอดคล้องกับเครื่องดนตรี พื้นบ้านที่ดีด สี ตี เป่า เข้ากับท่วงท่ารำของสาวโส้ที่มาร่วมแสดงเป็นจำนวนมาก ชาวโส้ถือว่าเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ในบริเวณงานจะมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านนานาชนิดให้แก่ผู้ไปเที่ยวชมในราคาถูก
                    (6) งานประเพณีลอยพระประทีปพระราชทาน “สิบสองเพ็งไทสกล” จัดขึ้น ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ สกลนคร ซึ่งมีสระพังทองเป็นสระน้ำโบราณก่อสร้างพร้อมกันกับพระธาตุเชิงชุม เพื่อประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับพระราชทานพระประทีปและกระทงพระราชทานจากพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์มาเป็นประจำทุกปี มีการเริ่มต้นขบวนอัญเชิญพระประทีปพระราชทานจากศูนย์ราชการจังหวัดสกลนครไปยังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ สกลนคร โดยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะเป็นผู้นั่งบนรถขบวนแห่อัญเชิญพระประทีป หลังจากนั้นจะมีการอัญเชิญกระทงพระราชทานไปประดิษฐานที่แท่นรองรับที่จัดไว้หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ทุกพระองค์ ณ มณฑลพิธีสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ สกลนคร มีการกล่าวคำบูชาพระประทีปและกระทงและผู้อัญเชิญจะอัญเชิญพระประทีปของทุกพระองค์ลงลอยในสระพังทอง ตามลำดับ
                    (7) งานประเพณีแห่ดาวเทศกาลคริสต์มาสจังหวัดสกลนคร จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลคริสต์มาสเพื่อเฉลิมฉลองการบังเกิดมาของพระเยซูเจ้า โดยจะมีการประดับตกแต่งรถดาวอย่างสวยงามตระการตา กว่า 200 คัน ในวันที่ 23 และ 24 ธันวาคม จะเริ่มแห่รอบชุมชนท่าแร่ ซึ่งเป็นชุมชนชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ ซุ้มประดิษฐ์ดาว ถนนคนเดิน การแสดงละครเทวดา การแห่ดาวแบบดั้งเดิมของชุมชนท่าแร่ด้วยดวงดาวน้อยใหญ่ที่ถืออยู่ในมือ พิธีบูชามิสซา ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมนั่งรถรางชมเมือง สัมผัสบรรยากาศตะวันรอนที่หนองหาร ชมสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนเก่าแบบโคโรเนียลที่ประดับตกแต่งด้วยดวงดาวระยิบระยับสวยงามส่วน ในวันที่ 25 ธันวาคม จะจัดขึ้นในตัวเมืองสกลนคร โดยเริ่มจากบริเวณหน้าลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ศูนย์ราชการจังหวัดสกลนคร  แห่รอบตัวเมืองไปยังบริเวณจัดงาน ณ สำนักมิสซังโรมันคาทอลิกท่าแร่-หนองแสง (โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ สกลนคร) ซึ่งภายในงานจะมีการแสดง ดนตรีบนเวที การสาธิตทำดาว การจำหน่ายอาหารและสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน การแสดงนิทรรศการขององค์กร หน่วยงานและชุมชนต่าง ๆ พร้อมชมการแสดงละครเทวดาวันคริสต์สมภพ จินตลีลาประกอบเพลง การร้อง เพลงประสานเสียงเพลงคริสต์มาสและชมพลุไฟเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสอันตระการตา เป็นที่ประทับใจ ของนักท่องเที่ยว
                    (8) งานมหกรรมข้าวฮางโลก จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ข้าวฮางสกลนครภูมิปัญญาท้องถิ่นอันจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผู้แปรรูป และผู้จำหน่ายข้าว ฮางทั้งระบบ เสริมสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี รวมทั้งสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปีได้ขยายตลาด พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวฮางจากต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลาย น้ำ ที่สำคัญเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวฮางของสกลนครให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ภายในงาน          มีกิจกรรมหลากหลาย อาทิเช่น การประกวดผลิตภัณฑ์จากข้าวฮาง การจัดนิทรรศการของส่วนราชการและกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ เป็นต้น
                    (9) งานตรุษไทสกล คนจีน เวียดนาม จัดเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลวันตรุษจีน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีให่มของชาวจีนและเวียดนาม และสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีพิธีกรรมของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนและเวียดนามให้ยังดำรงสืบเนื่องต่อไป โดยมีกิจกรรมภายในงาน ได้แก่ พิธีไหว้เจ้า เสริมมงคลปีให่มจีน พิธีไหว้เจ้าแม่กวนอิม ขบวนแห่วัฒนธรรมที่สวยงามตระการตา การเชิดสิงโตมังกรที่ตื่นตา ตื่นใจ การแสดงศิลปวัฒนธรรม 3 เชื้อชาติ พร้อมอิ่มอร่อยในถนนอาหารวัฒนธรรมสานสัมพันธ์ 3 เชื้อชาติ ไทย จีน เวียดนาม

ที่มา : 1. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566) 2. สำนักศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ณ เดือนมกราคม 2566

                    ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษาถิ่น
                                        จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดที่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณคดี และธรรมชาติที่งดงาม ตลอดจนเทศกาลงานประเพณีประจำท้องถิ่น ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าค้นหา อีกทั้งสกลนครเป็นเมืองที่มีวัดทั้งที่เป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัดที่มีเกจิอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน เคยพรรษาอยู่หลายแห่ง ดังคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง งามลือเลื่องหนองหาร แลตระการปราสาทผึ้ง สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม”
                                        (1) โบราณสถานโบราณวัตถุและโบราณคดี พระธาตุภูเพ็ก (อ.พรรณานิคม) พระธาตุดุม (อ.เมืองสกลนคร) พระธาตุนารายณ์เจงเวง (อ.เมืองสกลนคร) พระธาตุเชิงชุม (อ.เมืองสกลนคร) สะพานขอม (อ.เมืองสกลนคร) เจดีย์หิน (อ.สว่างแดนดิน)  แหล่งโบราณคดีบ้านดอนธงชัย (อ.สว่างแดนดิน) วัดทุ่งป่าผาง (อ.โพนนาแก้ว) กู่พันนา  (อ.สว่างแดนดิน) วัดด่านม่วงคำ (อ.โคกศรีสุพรรณ) ดอนหินหลัก (อ.เต่างอย) วัดป่าอุดมพัฒนา (อ.เต่างอย) พระเจดีย์ (พระธาตุอุปโมงค์) ธาตุดินวัดบ้านวังเวิน (อ.สว่างแดนแดนดิน)               วัดบ้านโคกคอน (อ.สว่างแดนดิน) วัดศรีธาตุการาม (อ.สว่างแดนดิน) หอไตรวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร (อ.เมืองสกลนคร) พระธาตุอุปมุง วัดป่าธาตุศรีทอง (อ.วานรนิวาส) กุฏิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต วัดป่าภูริทัตตถิราวาส (อ.พรรณานิคม)
                                        (2) การละเล่นพื้นเมือง รำมวยโบราณ (อ.เมืองสกลนคร) รำภูไท (อ.วาริชภูมิ) การเล่นกลองเส็ง (อ.วาริชภูมิ) การเล่นโส้ทั่งบั้ง (อ.กุสุมาลย์) โย้ยกลองเลง (อ.อากาศอำนวย) รำหางนกยูง (อ.เมืองสกลนคร) การละเล่นพื้นบ้านของกลุถ่มชาติพันธุ์โซ่ทะวืง (อ.ส่องดาว)
                                        (3) ชนเผ่าพื้นเมือง  จังหวัดสกลนครประกอบด้วยชนพื้นเมือง จำนวน 6 เผ่า ได้แก่
                                                            – เผ่าไทลาว ประกอบด้วยอำเภอเจริญศิลป์/สว่างแดนดิน/ส่องดาว/คำตากล้า
                                                            – เผ่าไทกะเลิง ประกอบด้วยอำเภอกุดบาก/ภูพาน/นิคมน้ำอูน
                                                            – เผ่าไทญ้อ ประกอบด้วยอำเภอเมืองสกลนคร/เต่างอย/โพนนาแก้ว/โคกศรีสุพรรณ
                                                            – เผ่าไทโส้ ประกอบด้วยอำเภอกุสุมาลย์
                                                            – เผ่าภูไท ประกอบด้วยอำเภอวาริชภูมิ/พรรณานิคม/พังโคน/บ้านม่วง
                                                            – เผ่าไทโย้ย ประกอบด้วยอำเภออากาศอำนวย/วานรนิวาส
                                        (4) แหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ภูพานจังหวัดสกลนคร (อำเภอเมืองสกลนคร) ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร (มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร) (อำเภอเมืองสกลนคร) ศูนย์วัฒนธรรมพื้นบ้านหทัยภูพาน วัดภูดินแดง (หลวงปู่ภูพาน) (อำเภอเมืองสกลนคร) ศูนย์วัฒนธรรมบ้านโนนหอม (อำเภอเมืองสกลนคร) ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชเทศบาลตำบลอากาศอำนวย (อำเภออากาศอำนวย) ศูนย์วัฒนธรรมไทโส้ (อำเภอกุสุมาลย์) ศูนย์วัฒนธรรมไทกะเลิง (อำเภอกุดบาก) ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมในสถานศึกษา 293 แห่ง ชุมชนคุณธรรม (พลังบวร) จำนวน 60 แห่ง
                                        (5) ชาวไทยเชื้อสายต่างๆ 2 เชื้อชาติ  ชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม
                                        (6) พิธีกรรมความเชื่อ รำผีหมอ หรือคล้องช้าง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนครและรำหมอเหยาบ้านโนนหอม อำเภอเมืองสกลนคร/กุดบาก/วานรนิวาส
                                        (7) รายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ 
                                                            1) สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ รำมวยโบราณ 
                                                            2) สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ประเภทงานศิลปกรรมพื้นบ้าน ได้แก่ ปราสาทผึ้ง  และ
                                                            3) สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล ประเภทขนบธรรมเนียมประเพณี ได้แก่ แห่ปราสาทผึ้ง
                                        (8) ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ตาราง : แสดงภูมิปัญญาท้องถิ่นในจังหวัดสกลนคร

ลำดับ รายการ สาขา รายละเอียดความสำคัญ
ปี พ.ศ. ที่ขึ้นทะเบียน
1 ผ้าแพรวา งานช่างฝีมือดั้งเดิม 2552 1
2 ตำนานผาแดงนางไอ่ วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา 2554 2
3 ผ้าย้อมคราม งานช่างฝีมือดั้งเดิม 2554 3
4 ภาษาโซ่ (ทะวืง) วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา 2556 4
5 ผ้าขาวม้า งานช่างฝีมือดั้งเดิม 2556 5
6 มวยโบราณสกลนคร การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว 2556 6
7 ภาษาภูไท วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา 2557 7
8 การย่างไฟ ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล 2557 8
9 แห่ปราสาทผึ้ง แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล 2558 9
10 เหยา แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล 2558 10
11 ปราสาทผึ้ง งานช่างฝีมือดั้งเดิม 2558 11
12 รำกลองเตะ ศิลปะการแสดง 2560 12
13 แหล่งอารยธรรมโบราณปราสาทพระธาตุภูเพ็ก แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล 2561 13

ที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566)

                                        (9) ปราชญ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จังหวัดสกลนคร

ตาราง : แสดงปราชญ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จังหวัดสกลนคร

ลำดับ ชื่อมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรม รายชื่อปราชญ์ ความเชี่ยวชาญ/ความสำคัญ
1 ผ้ายอมคราม นางกลิ่นแก้ว ปีคุณ นางถวิล อุปรี ผู้ผลิตผ้ามัดหมี่ ย้อมคราม ทอผ้า ออกแบบลายผ้าและแปรรูป
2 ภาษาโซ่ (ทะวืง) นายสมปอง ต้นประทุม นายมีชัย เกตุนันท์ (ผู้ประสานงาน) เจ้าของภาษา ผู้ใช้ภาษา
3 ผ้าขาวม้า นางกานี เกสรมาลา นายสายฝน ผลาจันทร์ (ผู้ประสานงาน) ผู้มีองค์ความรู้การทำผ้าขาวม้า กลุ่มผู้ผลิตผ้าขาวม้า
4 มวยโบราณสกลนคร อาจารย์วันชัย ฝั่งซ้าย ผู้ถ่ายทอดศิลปะการรำมวยโบราณ ผู้แทนมรดกภูมิปัญญา
5 ภาษาผู้ไท อาจารย์วันชัย ฝั่งซ้าย เจ้าของภาษา ผู้ใช้ภาษาผู้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ภาษา
6 การย่างไฟ อาจารย์วันชัย ฝั่งซ้าย ผู้มีความรู้เกี่ยวกับการย่างไฟ
7 แห่ปราสาทผึ้ง อาจารย์พีรกุล สุวรรณเจริญ ผู้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณีการแห่ปราสาทผึ้ง
8 เหยา นางสมบูรณ์ วงศ์สีดา หมอเหยา ผู้ทำพิธีสู่ขวัญหรือการรักษาพยาบาลผู้ป่วย “พิธีเหยา”
9 ปราสาทผึ้ง พระอธิการชัยยา ฐิตสัทโธ ผู้ออกแบบควบคุมและสร้างปราสาทผึ้ง
10 รำกลองเตะ อาจารย์สุขสันติ์ สุวรรณเจริญ ผู้ถ่ายทอดศิลปะการรำกลองเตะ

ที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566)

                                        (10) การจัดเก็บมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ปี 2565

ตาราง : ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ปี 2565

ลำดับ อำเภอ ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
1 โคกศรีสุพรรณ - ผ้าทอลายราชวัตร (ลายสวัด) - บั้งทิ้ง (กระบอกไม้ไผ่)
2 เมืองสกลนคร - เครื่องแต่งตัวละครการฟ้อนรำ - มีด พร้า บ้านนายอ - เครื่องปั้นดินเผาโอ่งดิน บ้านเชียงเครือ
3 วานรนิวาส - พิธีบวงสรวงศาลเจ้าปู่ท่าเยี่ยมคนที่ 9 (ศาลปู่ตา) - ประเพณีบุญบั้งไฟ - งานปริวาสกรรมวัดดอนสวรรค์
4 พรรณานิคม - แหล่งอารยธรรม (ขอมโบราณ) ปราสาทพระธาตุภูเพ็ก - ประเพณีบรวงสรวงขอฟ้า ขอฝน - ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ และกวนข้าวทิพย์เทศกาลออกพรรษา
5 อากาศอำนวย - ประเพณีบุญข้าวสาก (ฉลากภัตร) - ประเพณีบุญเลี้ยงเจ้าปู่ - ผญา - ภาษิต สอนลูกหลานไทโย้ย
6 วาริชภูมิ - ผ้าย้อมเปลือกไม้ - งานภูไทรำลึก - แกงหวาย
7 เจริญศิลป์ - งานนมัสการหลวงพ่อองค์ดำ - ประเพณีบุญเบิกบ้าน - ประเพณีลอยกระทง
8 คำตากล้า - จักสานกระติบข้าวจากไม้ไผ่ และจากหวาย - แหนม - ประเพณีแห่เทียนพรรษา
9 นิคมน้ำอูน - ผ้าไหมบ้านสุวรรณคาม - เสื่อกกนิคมน้ำอูน - ข้าวเกรียบฟักทอง
10 กุสุมาลย์ - งานเทศกาลโส้รำลึก - พิธีกรรมเหยาไทโส้ - เส็งกอง
11 กุดบาก - ผ้าฝ้ายย้อมคราม (ผ้าฝ้าย, ผ้าย้อมสีธรรมชาติ) - กระติบข้าวลายอักษร - เสื่อกก
12 โพนนาแก้ว - การตีมีด พร้า บ้านหนองกระบอก - ตีกลองยาวบ้านโนนประดู่ - บุญผะเหวด
13 พังโคน - การสานแห - การสานสวิง - ประเพณีลอยกระทง
14 ส่องดาว - กระเป๋าแปรรูปจากผ้าขาวม้า - การทำปลาร้า - บุญเลี้ยงผีปู่ตา
15 บ้านม่วง - บุญเบิกฟ้าเดือน 3 - ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา - ประเพณีสงกรานต์
16 เต่างอย - ไม้กวาดดอกหญ้า - ผ้าห่มสี่เขาลายดอกแก้ว - การทำข้าวกล้องงอก
17 สว่างแดนดิน - ประเพณีบุญข้าวจี่ยักษ์ - ประเพณีบุญผะเหวดเทศน์มหาชาติ - จักสานกระติบข้าว
18 ภูพาน - ประเพณีบุญบั้งไฟ - ผ้าย้อมครามบ้านหนองส่าน - จักสานหมวกจากใบเตย

ที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566)