Skip to content

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร

อำเภอเมืองสกลนคร
อำเภอเมืองสกลนคร มีประชากรมากที่สุดของจังหวัด หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองหนองหารหลวง” เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนตั้งอยู่ในแอ่งสกลนคร และเป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางการบริหาร การศึกษา ความเจริญศูนย์กลางธุรกิจ และวัฒนธรรมของจังหวัดสกลนคร นับเป็นเมืองที่มีความเจริญ

ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอเมืองสกลนครตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
     – ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอพรรณานิคม อำเภอนาหว้า (จังหวัดนครพนม) และอำเภอกุสุมาลย์
     – ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอโพนนาแก้วและอำเภอโคกศรีสุพรรณ
     – ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเต่างอยและอำเภอภูพาน
     – ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกุดบากและอำเภอพรรณานิคม

การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
     อำเภอเมืองสกลนครแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 16 ตำบล 169 หมู่บ้าน ได้แก่
          1. ธาตุเชิงชุม (That Choeng Chum) 
          2. ขมิ้น (Khamin) 13 หมู่บ้าน 
          3. งิ้วด่อน (Ngio Don) 16 หมู่บ้าน 
          4. โนนหอม (Non Hom) 11 หมู่บ้าน 
          5. เชียงเครือ (Chiang Khruea) 17 หมู่บ้าน 
          6. ท่าแร่ (Tha Rae) 8 หมู่บ้าน 
          7. ม่วงลาย (Muang Lai) 8 หมู่บ้าน 
          8. ดงชน (Dong Chon) 10 หมู่บ้าน 
          9. ห้วยยาง (Huai Yang) 16 หมู่บ้าน
          10. พังขว้าง (Phang Khwang) 14 หมู่บ้าน
          11. ดงมะไฟ (Dong Mafai) 11 หมู่บ้าน
          12. ธาตุนาเวง (That Na Weng) 5 หมู่บ้าน
          13. เหล่าปอแดง (Lao Po Daeng) 12 หมู่บ้าน
          14. หนองลาด (Nong Lat) 10 หมู่บ้าน
          15. ฮางโฮง (Hang Hong) 11 หมู่บ้าน
          16. โคกก่อง (Khok Kong) 8 หมู่บ้าน

ประติมากรรมหนองหารหลวง (ประตูเมืองสกลนคร)
ประตูเมืองแห่งนี้ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บริเวณทางเข้าเมืองสกลนคร สุดทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 22 อยู่ใกล้กับสะพานขอม บริเวณด้านบนของประตูสร้างเป็นประติมากรรมปูนปั้นรูปปราสาทผึ้ง 3 หลัง ภายในปราสาทผึ้งองค์กลางประดิษฐานพระพุทธรูปจำลองหลวงพ่อองค์แสน พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ของชาวสกลนคร ส่วนปราสาทผึ้งองค์ซ้ายประดิษฐานรูปเหมือนพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และปราสาทผึ้งองค์ขวาประดิษฐานรูปเหมือนพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของเมืองสกลนคร ทำให้ประตูเมืองแห่งนี้เป็นเสมือนศูนย์รวมความศักดิ์สิทธิ์และศูนย์รวมใจของชาวสกลนคร

วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร
ตั้งอยู่ถนนเรืองสวัสดิ์ ตำบลธาตุเชิงชุม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ภายในวัดมีองค์พระธาตุเชิงชุมตั้งหันหน้าไปทางหนองหารซึ่งอยู่ทิศตะวันออก สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัด แต่นับเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสกลนครมาแต่โบราณ 
ลักษณะองค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ฐานรูปสี่เหลี่ยมสูง 24 เมตร ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยมไม่มีลวดลายประดับ ยอดฉัตรทองคำเหนือองค์พระธาตุทำด้วยทองคำบริสุทธิ์มีน้ำหนัก 247 บาท มีซุ้มประตู 4 ด้าน ซุ้มยอดประตูมีลักษณะเป็นยอดปราสาทข้างในทึบสร้างด้วยศิลาแลงและหินทรายแดง มีซุ้มประตูหลอกแบบขอมด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก ส่วนซุ้มประตูทางเข้าจริงอยู่ด้านทิศตะวันออก องค์พระธาตุสร้างครอบรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์

พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์
ตั้งอยู่บริเวณกลางเทือกเขาภูพาน ในท้องที่อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร อยู่ห่างจากตัวเมืองสกลนครประมาณ 16 กิโลเมตร เป็นสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ในคราวเสด็จแปรพระราชฐานเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ไม่มีพระองค์ใดประทับอยู่ ทางสำนักเลขาธิการพระราชวังจะอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ทุกวัน พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เรียกว่าเป็นสวรรค์ของคนรักต้นไม้ได้เลยทีเดียว

อุทยานแห่งชาติภูพาน
อุทยานแห่งชาติภูพานตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาภูพาน มีลักษณะโครงสร้างทางธรณีเป็นหินทราย โดยมีความสูงอยู่ระหว่าง 200-567 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประกอบด้วยภูนางงอย ภูมะแงว ภูน้อย ภูเพ็ก โดยมีภูเขียวซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจุดสูงสุดในเขตอุทยานแห่งชาติ มีความสูง 567 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารและห้วยต่างๆ เช่น ห้วยเลา ห้วยอีโคก ห้วยยาง ห้วยเวียงไพร ห้วยขี้นก ห้วยโคก ห้วยวังถ้ำ ห้วยผึ้ง ห้วยอีดอน น้ำอูนตอนบน ห้วยทราย และห้วยนาจาน ซึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำอูน ห้วยแข้ ห้วยแสนกง และน้ำพุงตอนบน ไหลลงแม่น้ำพุง ห้วยสะทด ห้วยแก้งหว้า ห้วยแก้งโคก และห้วยหลัก ไหลลงลำน้ำยัง ห้วยพริกไหลลงลำปาว ห้วยทรายและห้วยเดียกไหลลงสู่หนองหาร

ชุมชนท่าแร่
หมู่บ้านท่าแร่  ตั้งอยู่ริมหนองหาร บนทางหลวงหมายเลข 22 (สกลนคร-นครพนม) ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร  เป็นชุมชนคริสต์เก่าแก่มีอายุกว่า 100 ปี   เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์มากที่สุดในประเทศไทย ความโดดเด่นของหมู่บ้านท่าแร่ นอกจากจะได้พบกับบรรยากาศเงียบสงบ และวิถีชุมชนขาวคาทอลิคที่เรียบง่ายแล้ว ยังได้ชมบ้านเรือนและตึกโบราณสไตล์โคโรเนียลแบบฝรั่งเศสสวยงามแปลกตา เป็นอาคารทอดยาวที่เป็นเอกลัษณ์ ตามแบบฉบับของฝีมือช่างท้องถิ่นที่ไม่เหมือนที่ใด

อุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติ
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมบัวพันธุ์ต่างๆ และรองรับการประชุมวิชาการบัวนานาชาติปี พ.ศ.2553 ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า ของนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมทั้งยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสกลนคร

สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลางโพนยางคำ จำกัด
เกิดขึ้นมาต่อเนื่องจากโครงการผกสมเทียมโคพันธุ์เนื้อของศูนย์ส่งเสริมการขยายพันธุ์สัตว์ กรป.กลาง เพื่อเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตจากราษฎร์ที่ร่วมในโครงการผสมเทียม โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2523 ในช่วงแรกการก่อตั้งสหกรณ์ฯ โพนยางคำ ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ได้แก่ กรป.กลาง รัฐบาลฝรั่งเศส อาเซี่ยน พร้อมออสเตรเลีย (Food Handling Bureau) รัฐบาลเยอรมัน บริษัทเนสท์เล่ ตำบลโนนหอมจึงได้คัดเลือก “เนื้อโคขุนโพนยางคำ” เป็นสินค้า/ผลิตภัณฑ์ตามโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ประกอบด้วยพื้นที่โครงการประมาณ 2,300 ไร่ และพื้นที่เพื่อการพัฒนาป่าไม้ประมาณ 11,000 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 13,300 ไร่ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูล้อมข้าว – ภูเพ็ก และป่าโครงการไม้กระยาเลยน้ำพุง  โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นสถานที่ทำการศึกษาทดลองแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งการพัฒนาที่ดิน การพัฒนาแหล่งน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่า การวางแผนปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์ ที่เปิดให้เกษตรกร รวมถึงผู้ที่สนใจสามารถเข้าชม ศึกษา ค้นคว้า ฝึกอบรม และนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสร้างเป็นอาชีพ เพื่อให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้

วัดป่าสุทธาวาส
ตั้งอยู่ถนนสุขเกษม ตำบลธาตุเชิงชุม ตั้งอยู่ใกล้เทือกเขาภูพาน เป็นวัดที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ได้ย้ายจากการธุดงค์กรรมฐานเข้ามาจำพรรษาที่วัดป่าสุทธาวาส และมรณภาพที่วัดนี้ จึงมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นในวัดป่าสุทธาวาส ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์บริขารเป็นอาคารชั้นเดียว คล้ายแบบบ้านทรงไทยประยุกต์ ภายในพิพิธภัณฑ์มีรูปหล่อโลหะรมดำรูปเหมือนพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เท่าขนาดองค์จริงในท่านั่งสมาธิ เบื้องหน้ารูปหล่อมีตู้กระจกยกฐานสูงพื้นปูด้วยหินอ่อน ภายในบรรจุอัฐิของท่านที่แปรสภาพเป็นแก้วผลึกใสสีขาว พร้อมทั้งตู้แสดงเครื่องบริขาร รวมทั้งประวัติความเป็นมาของท่านตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ นอกจากนี้ในวัดป่าสุทธาวาสยังมี จันทสารเจติยานุสรณ์ เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่หลุย จันทสาโร พระเถระชั้นผู้ใหญ่สายวิปัสสนาและเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ หลวงปู่หลุยเป็นผู้ที่มีปฏิปทาชอบจาริกไปในที่ต่าง ๆ จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตท่าน

วัดถ้ำผาแด่น
ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน บ้านดงน้อย ตำบลดงมะไฟ เป็นวัดเก่าแก่มีความเป็นมานับร้อยปี ภายในบริเวณวัดร่มรื่นไปด้วยต้นไม้และโขดหินขนาดใหญ่ เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา ในอดีตมีพระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานหลายองค์มาจำพรรษาและปฏิบัติธรรมที่วัดนี้ เช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ต่อมาปี พ.ศ. 2550 เจ้าอาวาสวัด คือ พระอาจารย์ปกรณ์ กนฺตวีโร ได้พัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมะเพื่อชักจูงประชาชนและกลุ่มวัยรุ่นให้เข้าวัดมากขึ้น ภายในวัดเต็มไปด้วยงานประติมากรรมแกะสลักหินทรายขนาดใหญ่ โดยมักแกะสลักเป็นเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ภาพแกะสลักพระพุทธสีหไสยาสน์ ภาพแกะสลักพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน รอยพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง ภาพแกะสลักหินทรายหลวงปู่ทวดองค์ใหญ่