อำเภอเต่างอย
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอเต่างอยตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมืองสกลนคร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอโคกศรีสุพรรณ และอำเภอนาแก (จังหวัดนครพนม)
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอดงหลวง (จังหวัดมุกดาหาร) และอำเภอนาคู (จังหวัดกาฬสินธุ์)
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอภูพาน
การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอเต่างอยแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 4 ตำบล 32 หมู่บ้าน ได้แก่
1. เต่างอย (Tao Ngoi) 7 หมู่บ้าน
2. บึงทวาย (Bueng Thawai) 10 หมู่บ้าน
3. นาตาล (Na Tan) 7 หมู่บ้าน
4. จันทร์เพ็ญ (Chan Phen) 8 หมู่บ้าน
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอเต่างอยประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 แห่ง ได้แก่
องค์การบริหารส่วนตำบลเต่างอย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเต่างอยทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลบึงทวาย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบึงทวายทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลนาตาล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาตาลทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลจันทร์เพ็ญ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลจันทร์เพ็ญทั้งตำบล
พญาเต่างอย
เป็นรูปปั้นเต่าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะริมลำน้ำพุงในอำเภอเต่างอย เต่างอยหมายถึงเต่าที่อยู่บนที่สูงหรืออยู่ริมตลิ่งหรือโขดหิน โดยมีประวัติความเป็นมาที่เล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อราว 400 ปีก่อน ไทยได้ทำสงครามกับลาว คนลาวพ่ายแพ้จึงถูกกวาดต้อนมาอยู่ในประเทศไทย เมื่อเดินทางมาถึงลำน้ำพุงซึ่งเป็นลำน้ำขนาดใหญ่ที่มีเต่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเห็นว่าบริเวณนี้น่าจะมีพืชพันธุ์ธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเป็นที่อยู่อาศัย จึงได้ตั้งถิ่นฐานขึ้นบริเวณนี้โดยตั้งชื่อว่า “หมู่บ้านเต่างอย” ตามสภาพสถานที่มีเต่าอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ และต่อมาจึงเรียกอำเภอนี้ว่าอำเภอเต่างอยนั่นเอง
วัดศิริมังคละ
วัดศิริมังคละเต่างอย (Wat Siri Mangkla Tao Ngoi) เป็นวัดดังในอำเภอเต่างอยและตั้งอยู่ไม่ไกลจากรูปปั้นพญาเต่างอย ภายในวัดโดดเด่นด้วยองค์พระธาตุเต่างอยสีขาวที่ประดับด้วยลวดลายสีทองอย่างวิจิตรงดงาม ด้านในเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและมีความสวยงามจากจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบ รวมทั้งบานประตูหน้าต่างที่สลักลวดลายอย่างงดงาม วัดแห่งนี้จึงเป็นที่เคารพศรัทธาจากชาวบ้านมาอย่างช้านาน และเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในจังหวัดสกลนครอีกด้วย
อุทยานแห่งชาติภูผายล
ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน บ้านห้วยหวด ตำบลจันทร์เพ็ญ มีพื้นที่ประมาณ 828 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองสกลนคร อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และอำเภอดงหลวง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร สภาพภูมิศาสตร์ทั่วไปเป็นที่ราบสูงสลับกับเทือกเขาหินทราย มีความสูง 300-600 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง บริเวณเทือกเขามีที่ราบหลังเต่ายาวประมาณ 10 กิโลเมตร รายล้อมด้วยภูเขาสูงชัน มีป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง เป็นต้นน้ำลำธารสำคัญของแม่น้ำหลายสายซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำพุง ห้วยบางทราย ห้วยหวด ห้วยเลา และอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ได้แก่ – อ่างเก็บน้ำห้วยหวด อ่างเก็บน้ำเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนชลประทานตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 มีจุดชมทิวทัศน์บริเวณสันเขื่อนและหน้าผาโดยรอบหลายแห่ง มีน้ำตก 3 สายไหลลงอ่างเก็บห้วยหวด ได้แก่ น้ำตกรากไทรย้อย น้ำตกผาผึ้ง และน้ำตกคำน้ำสร้าง ซึ่งสามารถมองเห็นสายน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำอย่างชัดเจนเฉพาะในช่วงฤดูฝน รถยนต์เข้าถึงสะดวก – น้ำตกรากไทรน้อย เป็นน้ำตกชั้นเดียว สูง 5 เมตร สามารถเดินเท้าจากบริเวณจุดชมวิวของอ่างเก็บน้ำห้วยหวดระยะทาง 500 เมตร เข้าไปชมได้ มีน้ำเฉพาะในฤดูฝน – น้ำตกผาผึ้ง เป็นน้ำตกชั้นเดียวสูง 10 เมตร ไหลมาจากห้วยน้ำใสลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยหวด สามารถเดินเท้าจากบริเวณจุดชมวิวของอ่างเก็บน้ำห้วยหวดระยะทาง 1 กิโลเมตร เข้าไปชมได้ – น้ำตกคำน้ำสร้าง เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดของอุทยานฯ มีความสูงประมาณ 25 เมตร สายน้ำไหลมาจากห้วยคำน้ำสร้าง ต้องเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานฯ เข้าไปในป่า 1.8 กิโลเมตร ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะพบดอกไม้ป่าหลายชนิดเบ่งบานตามลานหินระหว่างทางที่เดินไปยังน้ำตก – ถ้ำผาพญาเต่างอย จากที่ทำการอุทยานฯ ไปตามเส้นทางบ้านห้วยหวด-โคกกลาง ประมาณ 7 กิโลเมตร จะพบถ้ำผาพญาเต่างอยอยู่ริมถนนทางซ้ายมือ มีบันไดทางขึ้นไปสู่ถ้ำ โดยเชื่อกันว่าบริเวณใดที่มีเต่างอยแสดงว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นตำนานที่เรียกชื่อบ้านเต่างอย – ลานดุสิตา เป็นลานหินซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง ช่วงปลายฤดูฝนจะมีดอกไม้ป่าเล็ก ๆ ขึ้นละลานตา เช่น ดุสิตา กระดุมเงิน สร้อยสุวรรณา เอนอ้า หยาดน้ำค้าง โดยทางอุทยานฯ ได้ทำทางเดินเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมความงามของธรรมชาติ ไม่เหยียบย่ำไปบนพันธุ์ไม้เล็ก ๆ ที่สวยงามเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้แก่ ถ้ำหีบภูผานาง ถ้ำเสาวภา อ่างเก็บน้ำดงน้อย และถ้ำพระเวทย์ – ภูผายลหรือผาลาย อยู่บ้านนาผาง ตำบลกกปลาซิว ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 35 กิโลเมตร ยอดภูผายลมีภาพแกะสลักบนหน้าผาหินอายุราว 3,000 ปี ให้ได้ชม เป็นรูปคน กวาง วัว ควาย ลายเรขาคณิต และฝ่ามือ นอกจากนี้ยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามอีกแห่ง อัตราค่าบริการเข้าอุทยานฯ ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก มีบ้านพัก จุดกางเต็นท์ และร้านค้าสวัสดิการให้บริการนักท่องเที่ยว สอบถามข้อมูล อุทยานแห่งชาติภูผายล โทร. 0 4270 7214, 08 1260 4988 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760-2 www.dnp.go.th
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย)
เริ่มก่อตั้งโรงงานในเขตพื้นที่ บ้านนางอย จังหวัดสกลนคร (ห่างจากตัวจังหวัดสกลนครประมาณ ๒๕ กิโลเมตร) ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพัฒนาอาชีพ และเสริมรายได้ของราษฎรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนให้ยั่งยืนด้วยการปลูกมะเขือเทศ และส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตมะเขือเทศ ในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูล ทั้งนี้ ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โรงงานหลวงฯ ที่ ๓ (เต่างอย) ถือเป็นโรงงานแปรรูปผลผลิตมะเขือเทศแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำมูล จึงเป็นโครงการนำร่องให้เกิดโรงงานแปรรูปผลผลิตมะเขือเทศ และการส่งเสริมการปลูกมะเขือเทศของภาคเอกชนตามมาอย่างมากมาย รวมเป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกมะเขือเทศถึง ๒๓,๐๐๐ ไร่ในปัจจุบัน จนกระทั้งมีคำกล่าวเรียกพื้นที่ตลอดฝั่งแม่น้ำมูลว่า “เส้นทางสายมะเขือเทศ” (Tomato Belt) พื้นที่ตลอดฝั่งแม่น้ำมูล ถูกเรียกว่า เส้นทางสายมะเขือเทศ (Tomato Belt) เนื่องจากมีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกมะเขือเทศถึง ๒๓,๐๐๐ ไร่ในปัจจุบัน ปัจจุบันนี้ โรงงานหลวงฯ ที่ ๓ (เต่างอย) ตั้งอยู่เลขที่ ๒๑๕ หมู่ ๔ บ้านนางอย ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๒๑ ไร่ โดยมีบุคลากรระดับพนักงานประจำ จำนวน ๒๓ คน และบุคลากรระดับพนักงานจ้างรายวัน จำนวน ๑๘๗ คน (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๖)
อ่างเก็บน้ำห้วยหวด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสร็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรบริเวณลุ่มน้ำห้วยหวดและได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2524 ให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหวดโดยเร่งด่วน เพื่อจัดหาน้ำส่งให้พื้นที่เพาะปลูก ของราษฎรหมู่บ้านน้อย , บ้านจันทร์เพ็ญ , บ้านบึงสาและหมู่บ้านใกล้เคียงในเขตอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝน-ฤดูแล้ง และน้ำเพื่อทำการอุปโภค-บริโภค สำหรับราษฎรในบริเวณหมู่บ้านดังกล่าวได้ตลอดปี กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหวดเพื่อสนองพระราชดำริโดยมีลักษณะโครงการก่อสร้างเป็นเขื่อนดินปิดกั้นลำห้วยหวด บริเวณบ้านห้วยหวด ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ลักษณะเป็นเขื่อนดินสูง 26 เมตร ยาว 395 เมตร ความจุอ่างเก็บน้ำประมาณ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ผิวน้ำประมาณ 1,200 ไร่ พร้อมทั้งสร้างอาคารระบายน้ำชนิดรางเปิด มีสันทางระบายน้ำล้นยาว 35 เมตร ท่อส่งน้ำฝั่งซ้ายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.90 เมตร และท่องส่งน้ำฝั่งขวาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.30 เมตร และได้ดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำประกอบด้วยคลองส่งน้ำ จำนวน 7 สาย รวมความยาว 19.6 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างในปี 2526 และสร้างเสร็จในปี 2530 รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 105.40 ล้านบาท ส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรประมาณ 8,000 ไร่ ขอจำนวน 5 หมู่บ้าน ในเขตตำบลจันทร์เพ็ญและตำบลเต่างอย จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อเกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำจำนวน 7 กลุ่ม
ภาพรอยสลักผาสามพันปี
ภูผายลเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ มีภาพแกะสลักบนหน้าผาหินเป็นรูปภาพต่าง ๆ แสดงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ที่ใช้ของแข็งขูดขีดลงบนหน้าผา เป็นรอยแกะสลักโบราณอายุกว่า 3,000 ปี เป็นรูปคน กวาง วัว ควาย ลายเรขาคณิต นอกจากนี้ ยังมีธรรมชาติรอบข้างเป็นป่าเขาที่สวยงาม