Skip to content

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร

อำเภอส่องดาว

ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอส่องดาวตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสว่างแดนดิน
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอสว่างแดนดินและอำเภอวาริชภูมิ
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอวังสามหมอและอำเภอไชยวาน (จังหวัดอุดรธานี)
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอสว่างแดนดิน

การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอส่องดาวแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 4 ตำบล 46 หมู่บ้าน

1. ส่องดาว (Song Dao) 12 หมู่บ้าน
2. ท่าศิลา (Tha Sila) 13 หมู่บ้าน
3. วัฒนา (Watthana) 9 หมู่บ้าน
4. ปทุมวาปี (Pathum Wapi) 12 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอส่องดาวประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 แห่ง ได้แก่

เทศบาลตำบลส่องดาว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลส่องดาวและบางส่วนของตำบลปทุมวาปี
เทศบาลตำบลท่าศิลา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าศิลาทั้งตำบล
เทศบาลตำบลส่องดาวหนองแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลส่องดาว (นอกเขตเทศบาลตำบลส่องดาว)
เทศบาลตำบลปทุมวาปี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปทุมวาปี (นอกเขตเทศบาลตำบลส่องดาว)
เทศบาลตำบลวัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวัฒนาทั้งตำบล

วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง) และพิพิธภัณฑ์อาจารย์วัน อุตตโม
ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน เป็นวัดธรรมยุตินิกายฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน แต่เดิมพื้นที่บริเวณวัดชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า “ภูผาเหล็ก” สันนิษฐานว่าเพราะมีแร่เหล็กเป็นจำนวนมากในบริเวณนี้ และหากนำแม่เหล็กวางลงบนพื้นดิน จะมีหินเล็ก ๆ ติดขึ้นมาเป็นพวง ชาวบ้านจึงพากันเรียก “ถ้ำพวง” มาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ – วิหารพระมงคลมุจลินท์ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรกองค์ใหญ่ หน้าตักกว้าง 5 เมตร และยังเป็นที่ประดิษฐาน พระนรสีห์ พระอรหันต์ในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสโป พระพุทธรูปองค์ดำ ที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย และมีพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมธาตุพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตธาตุ ให้ประชาชนได้สักการะ – พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารพระอาจารย์วัน อุตตโม อยู่ใจกลางของพื้นที่วัด พระอาจารย์วัน อุตตโม (พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร) เป็นพระเถราจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน หนึ่งในศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ และเป็นผู้ก่อตั้งวัดแห่งนี้ พิพิธภัณฑ์ฯ เป็นอาคารสองชั้นก่ออิฐถือปูนและประดับด้วยหินอ่อนทั้งหลัง ชั้นล่างเป็นห้องแสดงภาพวาดเกี่ยวกับประวัติของพระอาจารย์วันตั้งแต่เกิด ชั้นบนมีรูปปั้นของท่านในท่านั่งขัดสมาธิพร้อมเครื่องสักการบูชา และตู้กระจกแสดงเครื่องอัฐบริขารของท่าน – เจดีย์พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร รูปทรงเจดีย์มีลักษณะคล้ายกับพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารพระอาจารย์วัน อุตตโม เป็นเจดีย์มี 2 ชั้น และมีบันไดขึ้นไปที่ตัวอาคารเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน มีซุ้มประตูทางเข้า 3 ทาง บนชั้นสองของเจดีย์มีรูปเหมือนของพระอาจารย์วันประดิษฐานอยู่ และที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่พระราชเพลิงศพของพระอาจารย์วัน อุตตโม (พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร) ด้วย – สังเวชนียสถาน 4 ตำบล เป็นการสร้างจำลองสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากสถานที่จริงในประเทศเนปาลและอินเดีย โดยพระเจดีย์จำลองสถานที่ประสูติมีชื่อว่า “พระเจดีย์สิริมหามายา” พระเจดีย์จำลองสถานที่ตรัสรู้มีชื่อว่า “พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์” พระเจดีย์จำลองสถานที่แสดงปฐมเทศนา “พระเจดีย์ธัมเมกขสถูป” และพระเจดีย์จำลองสถานที่ปรินิพพานมีชื่อว่า “พระเจดีย์วิหารปรินิพพาน” – วิหารพระปางเลไลยก์ ภายในวิหารมีองค์พระปางเลไลยก์ประดิษฐานอยู่ (ปางเลไลยก์ คือ พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายขวาวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุ มีรูปช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ และอีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย)

อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก
ครอบคลุมพื้นที่ในส่วนของอำเภอส่องดาว อำเภอวาริชภูมิ อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร อำเภอสามหมอ จังหวัดอุดรธานี และอำเภอสมเด็จ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเนื้อที่ 261,875 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ภูเขาที่สูงที่สุดคือ ภูอ่างสอ สภาพป่าเป็นป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ไผ่หลายชนิด และสมุนไพรชนิดต่าง ๆ สัตว์ป่าที่พบเห็นได้แก่ หมูป่า เก้ง กระจง นกชนิดต่าง ๆ แหล่งท่องเที่ยวบนยอดภูผาเหล็กโดยเฉพาะบริเวณหน้าผาต่าง ๆ หอส่องดาว สามารถใช้รถยนต์ขึ้นไปตามถนน รพช. จากที่ทำการอุทยานฯ ถึงหอส่องดาวระยะทาง 5.5 กิโลเมตร และเดินเท้าสู่จุดท่องเที่ยว สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ได้แก่ ผาสุริยันต์ เป็นหน้าผาสูงอยู่บนยอดเขาสูงสุดของภูผาเหล็ก เป็นจุดชมวิวที่สวยงาม และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า ผาดงก่อ เป็นหน้าผาสูงอยู่บนยอดภูผาเหล็กอันเป็นยอดสูงสุดของเทือกเขาภูพาน มีก้อนหินขนาดใหญ่วางพาดอยู่ริมหน้าผาที่ดูเหมือนจะหล่นลงไปข้างล่าง หากยืนบนภูเขาแห่งนี้จะมองเห็นทิวเขาอันสลับซับซ้อนของภูพาน และมองเห็นภูผาหัก ภูไม้ ภูซากลาก อยู่ในเขตอำเภอวังสามหมอ ของจังหวัดอุดรธานี ผาน้ำโจ้ก เป็นหน้าผาสูงที่อยู่ยอดภูผาเหล็ก สามารถมองเห็นอ่างเก็บน้ำห้วยหวด และมองเห็นวิวทิวทัศน์ของจังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่นได้ ภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ผาผักหวาน อยู่ที่บ้านภูตะคาม ตำบลท่าศิลา ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 18 กิโลเมตร เป็นภาพเขียนโบราณ มีอายุประมาณ 3,600 ปี อยู่บนก้อนหินใหญ่เป็นภาพลักษณะคล้ายผู้หญิงยืนเรียงกันเป็นแถวโดยใช้มือเกาะไหล่กัน ลานอุษาสวรรค์ เป็นบริเวณที่ราบบนยอดภูผาเหล็ก มีเนื้อที่ประมาณ 1,550 ไร่ มีสภาพเป็นทุ่งป่าละเมาะ เขา และโขดหิน สลับกับทุ่งหญ้า ดูคล้ายสวนประดิษฐ์ มีดอกไม้ป่าขึ้นมากมาย เช่น สารดอย เอนอ้า ดาวเรืองภู ม้าวิ่ง หญ้าข้าวก่ำ กระดุมเงิน ดุสิตา ฯลฯ สุสานไดโนเสาร์ ตั้งอยู่บริเวณกลางเขาภูผาเหล็ก อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร และบริเวณชายป่าภูพาน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะเป็นกระดูกสัตว์ที่กลายเป็นหินมีอายุหลายล้านปีทับถมกันจำนวนมาก บางส่วนยังฝังอยู่ในหินและดิน บางแห่งเป็นฟอสซิลของพืช เช่น ไม้กลายเป็นหิน หอส่องดาว ตั้งอยู่บนยอดภูผาเหล็กมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร สามารถมองเห็นทัศนียภาพได้รอบด้าน หอส่องดาวจึงเป็นที่สำหรับศึกษาดวงดาวในเวลากลางคืน สามารถชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกได้ชัดเจนมาก ค่าเข้าชม คนไทยผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท /ชาวต่างชาติผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท อัตราค่าบริการ สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยลด 50 เปอร์เซ็นต์ วันจันทร์-วันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2558 ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท อุทยานฯ มีบริการบ้านพักและบริเวณกางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว ราคา 800-2,000 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก บ้านท่าวัด ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร 47190 หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th

น้ำตกเก้าชั้น
น้ำตกเก้าชั้น อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร  เป็นน้ำตกขนาดเล็กลดหลั่นจากยอดเขาภูผาเหล็กเป็นชั้นเล็กๆ ถึง 9 ชั้น และไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านแพงตอนบนและไหลลงสู่แม่น้ำสงคราม มีน้ำน้อยมากในช่วงฤดูแล้ง

ภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ผาผักหวาน
อยู่ที่บ้านภูตะคาม ตำบลท่าศิลา ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 18 กิโลเมตร เป็นภาพเขียนโบราณ มีอายุประมาณ 3,600 ปี อยู่บนก้อนหินใหญ่เป็นภาพลักษณะคล้ายผู้หญิงยืนเรียงกันเป็นแถวโดยใช้มือเกาะไหล่กัน นอกจากแหล่งโบราณคดีประเภทที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และ แหล่งฝังศพแล้ว แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อีกประเภทหนึ่งที่พบในเขตภาคอีสาน คือ ภาพเขียนสี ภาพเขียนสีหมายถึง งานศิลปะที่สร้างสรรค์บนผนังหินเพิงผาหรือถ้ำ ภาพเขียนสีผาผักหวาน ตั้งอยู่ที่บ้านภูตะคาม อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนครห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก 18 กิโลเมตร เป็นภาพเขียนโบราณ มีอายุประมาณ 3,600 ปี อยู่บนก้อนหินใหญ่เป็นภาพลักษณะคล้ายผู้หญิงยืนเรียงกันเป็นแถวโดยใช้มือเกาะไหล่กัน ตัวภาพเขียนอยู่บนผนังด้านหนึ่ง ของก้อนหินทรายขนาดใหญ่ สูงจากพื้นดินถึงยอดประมาณ 12 เมตร ขนาดกว้างยาว 17 x 12 x 11 x 8 เมตร ตัวภาพเขียนอยู่บนผนังด้านทิศตะวันออก สูงจากพื้นประมาณ 5 เมตร เป็นภาพเขียนด้วยสีแดง เป็นภาพคน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ด้านบน เขียนเป็นภาพคนแบบระบายทึบ เป็นภาพคนไว้ผมบ๊อบ กางขาและย่อตัวเล็กน้อย แขนชูขึ้นเป็นวงโค้ง มือกางออก สันนิษฐานว่าเป็นวาทยากร กำกับการเต้นระบำของกลุ่มคนด้านล่าง ที่วาดเป็นรูปคนแบบเขียนโครงร่างภายนอก จำนวน 8 คน ยืนเรียงแถวกัน 5 คน หันด้านข้างไปทิศทางเดียวกัน อากัปกิริยาคล้ายต่อแถวเต้นรำ คือ ย่อตัว ก้นโด่ง แล้วยกแขนไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน คงจะฉับไวเพราะผมที่ผูกไว้ด้านหลังกระดกขึ้นลง ภาพคนทั้ง 2 กลุ่ม ใช้ช่องว่างในการจัดแบ่งภาพ แสดงระยะใกล้ไกลของตำแหน่งคนในภาพ คณะเต้นรำอยู่ด้านล่าง อยู่ใกล้ ส่วนวาทยกร อยู่ไกลออกไป ทำให้มองเห็นภาพชัดเจนไม่ซ้อนทับกัน สถานที่พัก ทางอุทยานฯ มีบริการ บ้านพัก ไว้บริการนักท่องเที่ยว และในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์ไปเองเสียค่าพื้นที่ 30 บาท/คน/คืน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก บ้านท่าวัด ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร 47190 โทร. 0 1849 9546 หรือสอบถามข้อมูลที่พักเพิ่มเติมได้ที่ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เขตบางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th

ดานหินลานมันปลา
“ดานหินลานมันปลา” ลานหินทรายที่มีเนื้อที่ประมาณ 2000 ไร่ โดยที่เรียกว่าดานหินลานมันปลา ก็เพราะว่าในบริเวณนี้เป็นลานหินทรายกว้างขวางและมีต้นมันปลาหรือต้นกันเกราขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง ไฮไลต์เด่นที่ว่าที่ดานลินนี้ก็คือ หินบริเวณนี้ได้ถูกน้ำกัดเซาะจนเห็นเป็นหินรูปร่างแปลกตา โดยหลายคนอาจมองว่าเป็นรูปช้างกำลังยื่นงวงออกไปหรือไดโนเสาร์กำลังจูบกัน หรือตามแต่จินตนาการตามมุมมองของนักท่องเที่ยวที่ได้พบเห็น

จุดชมวิว ผาดงก่อ
ผาดงก่อ ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เป็นหน้าผาสูงอยู่บนยอดภูผาเหล็กถัดจากผา สุริยันต์มาทางทิศตะวันออก เป็นจุดชมทิวทัศน์ สามารถมองเห็นบริเวณป่าทึบและเทือกเขาสลับซับซ้อนกันมากมาย ผาดงก่อยังเป็นหน้าผาสูงอยู่บนยอดผาเหล็ก ของเทือกเขาภูพานมีก้อนหินขนาดใหญ่วางพาดอยู่ริมหน้าผา ที่ดูเหมือนจะหล่นลงไปข้างล่างหากยืนบนภูเขาแห่งนี้จะมองเห็นทิวเขาอันสลับซับซ้อนของภูพาน และมองเห็น ภูผาหัก ภูไม้ ภูซากลาภ อยู่ในเขต อ.วังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี