Skip to content

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร

อำเภอวาริชภูมิ

ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอวาริชภูมิตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสว่างแดนดินและอำเภอพังโคน
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอพังโคน อำเภอพรรณานิคม และอำเภอนิคมน้ำอูน
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอนิคมน้ำอูน และอำเภอวังสามหมอ (จังหวัดอุดรธานี)
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอส่องดาว

การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอวาริชภูมิแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 5 ตำบล 71 หมู่บ้าน ได้แก่

1. วาริชภูมิ (Waritchaphum) 20 หมู่บ้าน
2. ปลาโหล (Plalo) 16 หมู่บ้าน
3. หนองลาด (Nong Lat) 11 หมู่บ้าน
4. คำบ่อ (Kham Bo) 18 หมู่บ้าน
5. ค้อเขียว (Kho Khiao) 6 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอวาริชภูมิประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่

เทศบาลตำบลวาริชภูมิ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลวาริชภูมิ
เทศบาลตำบลปลาโหล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปลาโหลทั้งตำบล
เทศบาลตำบลคำบ่อ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคำบ่อทั้งตำบล
เทศบาลตำบลหนองลาด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองลาดทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลวาริชภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวาริชภูมิ (นอกเขตเทศบาลตำบลวาริชภูมิ)
องค์การบริหารส่วนตำบลค้อเขียว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลค้อเขียวทั้งตำบล

พระธาตุศรีมงคล
ตั้งอยู่วัดพระธาตุศรีมงคล ตำบลบ้านธาตุ ลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมยอดแหลม ตกแต่งด้วยศิลปกรรมยุคใหม่ ก่ออิฐถือปูนประดับด้วยลายปั้นดินเป็นเรื่องราวพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า โดยสร้างครอบพระธาตุองค์เดิมซึ่งเป็นศิลาแลงที่ชำรุด ที่ตั้งตำบลบ้านธาตุแต่เดิมพื้นที่เป็นป่าดง ครั้งแรกได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่อำเภอวาริชภูมิในปัจจุบันนี้ ได้พากันออกมาถางพงไพรเพื่อทำไร่ แต่พอถางลึกเข้าไปก็พบองค์พระธาตุร้างอยู่ในดง ชาวบ้านกลุ่มนี้กลัวอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุนี้จะลงโทษ จึงนิมนต์ท่านพระครูหลักคำ ประธานสงฆ์เมืองวารีมาพิจารณา ท่านเห็นว่าสถานที่บริเวณนี้เป็นมงคล เหมาะที่จะสร้างหมู่บ้านได้ จึงได้พร้อมใจกันถากถางบริเวณพระธาตุร้างนี้ พร้อมทั้งได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแผ่ไปให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาองค์พระธาตุ และได้สร้างวัดตรงนั้น ท่านพระครูหลักคำได้ตั้งชื่อพระธาตุร้างนั้นว่า “พระธาตุศรีมงคล” และตั้งชื่อวัดว่า “วัดธาตุศรีมงคล” เมื่อประมาณ พ.ศ. 2444 และเรียกหมู่บ้านว่า “บ้านธาตุ” จนปัจจุบันนี้ พระธาตุศรีมงคลนั้นสร้างขึ้นในสมัยใดไม่ทราบแน่ชัด ภายในพระธาตุนั้นมีวัตถุโบราณอันล้ำค่ายิ่ง เช่น พระพุทธรูปที่ทำด้วยทองคำ ทองสัมฤทธิ์ และทำด้วยวัตถุอย่างอื่นอีกมากมาย เห็นได้จากเมื่อพระธาตุสลักหักพังลงมา ชาวบ้านก็ได้รวบรวมโบราณวัตถุเหล่านั้นรักษาไว้ในสถานที่อันสมควร เพื่อการสักการบูชา กล่าวกันว่า พระธาตุศรีมงคลนี้ได้สร้างคู่กับพระธาตุดงเชียงเครือ ซึ่งตั้งอยู่ห่างไปทางทิศเหนือประมาณ 500 เมตร สันนิษฐานว่า พะธาตุทั้งสองแห่งนี้ได้สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ นับเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอวาริชภูมิ

วัดถ้ำพระพุทธไสยาสน์ (ถ้ำพระทอง)
วัดถ้ำพระพุทธไสยาสน์ (ถ้ำพระทอง) ตั้งอยู่ที่บ้านโคกตาดทอง หมู่ที่ 5 ตำบลค้อเขียว อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร สร้างก่อน พ.ศ. 2484 ที่ดินของวัดเป็นที่ดินวนอุทยานภูพาน วัดถ้ำพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอวาริชภูมิ ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 16 กิโลเมตร ปัจจุบันมีพระมหาศักดิ์ชาย อมโร เป็นเจ้าอาวาส วัดถ้ำพระพุทธไสยาสน์ มีโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูปแกะสลักด้วยหินบนผนัง ศิลาจารึกอักษรโบราณ พระพุทธไสยาสน์ พระนาคปรก พระพุทธรูปเก่าแก่ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ โรงย้อม โรงครัว ศาลาเอนกประสงค์ เรือนรับรองผู้มาแสวงบุญ ถังเก็บน้ำฝน ซึ่งปัจจุบันท่านเจ้าอาวาสท่านได้เก็บไว้ในพระธาตุหิน เนื่องจากมีคนมาขโมยโบราณไปหลายชิ้นจึงต้องมีการเก็บรักษาได้เป็นอย่างดี เพื่อคงไว้เพื่อชั่วลูกชั่วหลาน

ศาลเจ้าปู่มเหสักข์
ไหว้สักการะรูปปั้นเจ้าปู่มเหสักข์ ศาลเจ้าปู่มเหสักข์ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ชาวผู้ไทย(ซึ่่งอพยพข้ามโขงมาตั้งรกรากที่สกลนคร)วาริชภูมินับถือสักการะ โดยชาวผู้ไทยวาริชมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าปู่มเหสักข์ว่านอกจากจะคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่างๆแล้ว ยังปรากฏนิมิตร่างของเจ้าปู่เป็นสัตว์ต่างๆ เช่น เสือลายพาดกลอน งูใหญ่ สุนัขสีขาว หรือปรากฏในความฝันว่าท่านเป็นชายผิวดำ ร่างใหญ่ เสียงดัง แต่งกายแบบนักรบโบราณ

“หาดสวนหินวาริชภูมิ” เสน่ห์เที่ยวเมืองรอง
ด้วยการรังสรรค์จากธรรมชาติที่ก่อให้เกิดสภาพภูมิประเทศที่มีเทือกเขาภูพานทอดยาวผ่าน ได้ก่อให้เกิดทัศนียภาพงดงามในหลายพื้นที่ของจังหวัดสกลนคร เฉกเช่นเดียวกับที่บ้านดงคำโพธิ์ ต.ปลาโหล อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร หมู่บ้านกลาง เทือกเขาภูพาน ที่ได้รับอานิสงส์จากที่มีการก่อสร้าง “เขื่อนน้ำอูน” เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ก่อให้เกิด ลานดินสีขาว ขนาดใหญ่ที่ทอดยาวจากริมฝั่งลงไปยังผืนน้ำของเขื่อนน้ำอูน ทำให้มีสภาพคล้ายกับหาดทรายที่ทอดตัวยาวอยู่ริมทะเลหาดพัทยาวาริชภูมิ หรือ หาดสวนหินเขื่อนน้ำอูน บ้านดงคำโพธิ์ นอกจากหาดทรายเทียมที่ทอดตัวยาวหลายร้อยเมตรริมฝั่งที่นักท่องเที่ยวสามารถลงไปเล่นน้ำคลายร้อนได้อย่างสะดวกสบายแล้ว ทัศนียภาพโดยรอบที่เป็นป่าเขาก็ดูร่มรื่นสวยงาม เหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจอย่างแท้จริง จึงเป็นสิ่งดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังที่นี่ นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.สกลนคร ที่กำลังมีผู้คนรู้จักมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมีนักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่เดินทางมาเที่ยวชมยังสถานที่แห่งนี้ไม่ขาดสาย